![]() |
|||
---|---|---|---|
บทความ : วันนอนหลับโลก (World Sleep Day 2018) |
|||
05 มี.ค. 2561 l 10:41 |
|||
การนอนหลับถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ทำให้ร่างกายได้หยุดพัก ฟื้นฟู ซ่อมแซม และปรับสมดุลต่าง ๆ ภายในร่างกาย การนอนถือเป็น 1 ใน 3 ปัจจัยสำคัญต่อการมีสุขภาพที่ดี สมาคมการแพทย์เพื่อการนอนหลับโลกกำหนดให้วันศุกร์สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมีนาคมทุก ๆ ปี เป็น “วันนอนหลับโลก” เพื่อให้ประชากรทั่วโลกได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับปัญหาการนอนหลับ หากไม่เร่งแก้ไขอาจกลายเป็นปัญหาเรื้อรังต่อทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บ และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
ข้อมูลจากองค์การนามัยโลกมีคำว่า ควรนอนหลับให้เพียงพอวันละ 7-9 ชั่วโมง แต่ประชากรทั่วโลกร้อยละ 45 เคยมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับการนอน ร้อยละ 35 มีอาการนอนไม่หลับเป็นสำคัญ ในผู้ที่มีปัญหาการนอนไม่หลับนั้น จะมีปัญหาขาดงานหรือทำงานด้อยประสิทธิภาพมากกว่าผู้ที่ไม่มีปัญหาถึง 3 เท่า นอกจากนี้พบว่า การนอนที่ไม่เพียงพอจะทำให้การเรียนรู้ ความจำ และสมาธิการทำงานลดลงเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่มีปัญหา ภัยเงียบซึ่งไม่ควรมองข้ามคือ การนอนที่ไม่เพียงพอหรือนอนอย่างไม่มีคุณภาพติดต่อกันเป็นเวลานานส่งผลต่อการก่อโรคในผู้ป่วย ทั้งผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้มีภาวะโรคอ้วน ผลต่อระบบการเผาผลาญของร่างกาย ทำให้เกิดความอยากอาหาร รวมถึงผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต เช่น ภาวะเครียด โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า และโรคไบโพลาร์หรือคนสองบุคลิก โดยเฉพาะผู้ที่เป็นผู้ป่วยอยู่เดิมทำให้อาการกำเริบได้ ดังนั้น การส่งเสริมให้มีการนอนที่เพียงพอและมีคุณภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยทำให้ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ
รศ.นพ.ณัฐพงษ์ เจียมจริยธรรม หัวหน้าศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เล่าถึงปัญหาการนอนว่า การนอนไม่หลับเกิดจากหลายปัจจัย เช่น การใช้ชีวิตอยู่กับอินเตอร์เนต ดูคลิปวีดิโอต่าง ๆ ดูซีรีส์หรือเล่นสมาร์ทโฟน รวมถึงการทำงานก่อนนอน ตามข้อเท็จจริงการทำงานหรือใช้สมาร์ทโฟนควรทำก่อนเข้านอนประมาณ 4 ชั่วโมง ไม่เช่นนั้นร่างกายจะรู้สึกตื่นตัวและนอนไม่หลับ แต่สิ่งสำคัญคือ อาจเกิดจากการที่ร่างกายมีภาวะและโรคบางอย่างที่ทำให้การนอนด้อยคุณภาพ สำหรับภาวะที่ต้องคำนึงคือ ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับและภาวการณ์นอนกรน ดังนั้น หากมีอาการดังกล่าวควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา หากปล่อยไว้จะทำให้เป็นโรคหัวใจ ขณะนี้พบว่าในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคหัวใจเพิ่มมากขึ้น และกล่าวว่า กลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังคือ กลุ่มคนที่ทำงานเป็นกะ เพราะทำให้วงจรชีวิตไม่คงที่ ความสำคัญของชีวิตในการนอนมีสโลแกนวันนอนหลับโลกปี 2561 คือ “หลับเป็นเวลา ตามนาฬิกาชีวิต พิชิตโรคร้าย ร่างกายแข็งแรง” ซึ่งทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์จะมีการจัดงานในวันที่ 3 มีนาคม 2561 ที่สวนลุมพินี
การนอนเป็น 1 ใน 3 ปัจจัยที่สำคัญทำให้มีสุขภาพดี และการมีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงถือเป็นสุดยอดความปรารถนาของทุกคน ทั้งยังถือเป็นการป้องกันโรคขั้นพื้นฐานที่สามารถทำได้ด้วยตนเอง เพิ่มองค์ความรู้ให้ประชาชนได้รู้และเข้าใจถึงการนอนที่มีคุณภาพว่า ควรปฏิบัติตนอย่างไร เพื่อให้ประชาชนได้พ้นจากโรคร้ายที่สามารถป้องกันได้.
เรียบเรียงโดย พรรณี ตั้งใจสถาปัตย์
|
|||
ข้อมูลข่าวและที่มาผู้สื่อข่าว : ธนัชพร ถ้ำสิงห์ผู้เรียบเรียง : โสรัจจะ ชมจำปีแหล่งที่มา : สำนักพัฒนาการประชาสัมพันธ์ |