ไทยเดินหน้าขับเคลื่อน 11 อุตสาหกรรม Soft power ยกระดับทักษะคนไทย สู่แรงงานทักษะขั้นสูง และแรงงานสร้างสรรค์ เสริมสร้างเศรษฐกิจที่มั่นคง

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 โดยมีคณะกรรมการฯ ผู้แทนภาครัฐผู้แทนภาคเอกชน เข้าร่วมประชุม เพื่อพิจารณาแนวทางการขับเคลื่อน Soft power ประเทศไทยอย่างบูรณาการ รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอีกทั้ง เป็นการส่งเสริมและสร้างความเชื่อมั่นของประเทศไทยในเวทีโลก
โดยรัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้เชี่ยวชาญ ในอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ประเทศไทย จำนวน 31 คน มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ มีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นรองประธานกรรมการ มีนายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ที่ปรึกษาและกรรมการ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เป็นกรรมการ โดยมีเป้าหมายขับเคลื่อนโครงการ แผนงาน และมาตรการต่างๆ ผ่านคอนเทนต์ 11 อุตสาหกรรม Soft power ของประเทศไทย ให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมในทุกสาขา ยกระดับแรงงานทักษะขั้นสูง ผ่านนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร รองประธานฯ กล่าวถึงการจัดทำแผนผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของไทย โดยเร่งขับเคลื่อน 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ หรือ (One Family One Soft Power : OFOS) และ Thailand Creative Content Agency (THACCA) มีเป้าหมายยกระดับทักษะคนไทย 20 ล้านคน สู่แรงงานทักษะขั้นสูงและแรงงานสร้างสรรค์ ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้อย่างน้อย 4 ล้านล้านบาทต่อปี สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
สำหรับแนวทางขับเคลื่อน OFOS และ THACCA แบ่งเป็น 3 ขั้น ได้แก่
ขั้นที่ 1 การพัฒนาคนผ่านกระบวนการส่งเสริมบ่มเพาะศักยภาพ โดยเฟ้นหาคนที่มีความฝันและอยากทำความฝันนั้นให้เป็นจริง ทุกช่วงอายุ จำนวน 20 ล้านคน จาก 20 ล้านครัวเรือน โดยแจ้งลงทะเบียนกับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อบ่มเพาะผ่านศูนย์บ่มเพาะทักษะสร้างสรรค์ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ขั้นที่ 2 การพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์สาขาต่าง ๆ ภายในประเทศ 11 สาขา ได้แก่ อาหาร กีฬา เฟสติวัล ท่องเที่ยว ดนตรี หนังสือ ภาพยนตร์ เกม ศิลปะ การออกแบบ และแฟชั่น กำหนดให้เป็นหน้าที่ขององค์กร THACCA ที่จะถูกจัดตั้งขึ้นในอนาคต ดำเนินการปรับแก้กฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับที่ไม่สอดคล้องกับยุคสมัย สนับสนุนเงินทุนวิจัยและพัฒนา สร้างแรงจูงใจด้านภาษี จัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ทุกจังหวัด เพิ่ม Co-Working Space ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบวงจร ส่งเสริมบรรยากาศการเรียนรู้ ริเริ่มไอเดียสร้างสรรค์ และต่อยอดเป็นซอฟต์พาวเวอร์ตั้งแต่ระดับภูมิภาค ไปจนถึงระดับประเทศ
ขั้นที่ 3 การนำอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์รุกสู่เวทีโลก ด้วยการทูต เชิงวัฒนธรรม หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องนำซอฟต์พาวเวอร์ของไทยเผยแพร่สู่ตลาดโลก
ทั้งนี้ รัฐบาลจะขับเคลื่อน Soft power ไทย ใน 3 ระยะ โดยเริ่ม Kick Off ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป
ซอฟต์ พาวเวอร์ (Soft Power) : ความสามารถในการดึงดูด และสร้างการมีส่วนร่วม โดยไม่ต้องบังคับหรือให้เงิน โดยอาศัยทรัพยากรพื้นฐาน 3 ประการ ได้แก่ วัฒนธรรม ค่านิยมทางการเมือง และนโยบายต่างประเทศ
ข้อมูลข่าวและที่มา
ผู้สื่อข่าว : ฉัตรชัย พวงขจร
ผู้เรียบเรียง : วรรณวิไล สนิทผล
แหล่งที่มา : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่