นายกรัฐมนตรี ยอมรับไทยมีความขัดแย้งมานาน ใช้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ลดความเหลื่อมล้ำ อยู่ร่วมกันอย่างสันติ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษ “Next Chapter ประเทศไทย” ณ ห้องแกรนด์ฮอลล์ ชั้น 2 โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ ภายในงาน ถอดรหัสลงทุน ก้าวข้ามวิกฤต ที่จัดโดย ประชาชาติธุรกิจ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบัน ปัญหาสังคม ปัญหาความเหลื่อมล้ำก็เป็นปัญหาใหญ่ ปัญหาการต่างประเทศก็เช่นกัน ซึ่งประเด็นที่จะพูดในวันนี้ก่อนเป็นประเด็นแรกคือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำปัญหาสังคม เป็นปัญหาใหญ่ของรัฐบาลที่หมักหมมมายาวนาน ไม่อยากจะบอกว่าถูกปล่อยปะละเลยการแก้ปัญหา แต่เป็นปัญหาที่ยากและใหญ่มีหลายมิติ ทำให้การแก้ปัญหาได้ไม่ตรง จึงต้องเริ่มด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้มีการวางโรดแมปไปแล้ว แต่ยังไม่สมบูรณ์ ทุกคนต้องร่วมด้วยช่วยกันแก้ปัญหา ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำตามทางเศรษฐกิจสูงที่สุดประเทศหนึ่ง ซึ่งต้องแก้ปัญหาด้วยจิตใต้สำนึกของทุกคนไม่ใช่การออกมาตรการของรัฐบาล ขอให้ทุกคนเข้าใจและเชื่อว่า ทุกคนรู้อยู่แล้วว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำความไม่เสมอภาค ความไม่เท่าเทียมในทุกมิติ ไม่ว่าจะสิทธิเสรีภาพในการเลือกเพศสภาพ เลือกการประกอบอาชีพ ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ ขอให้ช่วยกันสนับสนุนแสดงความเห็นในเชิงบวก ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เมื่อมีความเห็นต่างก็เกิดปัญหาความขัดแย้ง ไม่พอใจในการกระทำของอีกฝ่าย ขณะที่ปัจจุบัน การให้ความสำคัญกับ Social Media มากขึ้นก็มีผลกระทบในเชิงลึกมีมากเช่นกัน สังคมแตกแยกมีการแบ่งพรรคพวกที่ชัดเจน เรามีวิธีการที่สื่อสารกันได้หลายวิธี ดังนั้นเราต้องปรับปรุงตัวเอง เพื่อให้ลดความขัดแย้งในการพูด ไม่สายเกินไป ในการช่วยเยียวยาสังคมให้ดีขึ้นจากการกระทำของพวกเราทุกคน เราต้องรับผิดชอบต่อสังคม ถือเป็นส่วนหนึ่ง ที่เราจะนำประเทศเดินไปข้างหน้าควบคู่กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นฉบับที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวว่า ปัญหาเศรษฐกิจ ทุกคนเข้าใจดี GDP ประเทศเพื่อนบ้านที่เติบโตกว่าเราถึงสองเท่า ประชาชนได้รับความเดือดร้อน หากไม่มีการเยียวยา หรือบริหารจัดการ รัฐบาลจะเร่งแก้ปัญหา อะไรที่ทำได้เราทำก่อน เช่น การลดค่าไฟฟ้า การพักหนี้เกษตรกร ที่ผ่านมารัฐบาล พยายามแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรมาตลอด พักหนี้มาแล้ว 13 ครั้งใน 9 ปี แต่ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น เพราะอาชีพเกษตรกร ต้องพึ่งดินฟ้าอากาศ แต่เราจะไม่มรการจำนำข้าว หรือประกันราคาข้าว รัฐบาล จะใช้ตลาดนำนวัตกรรมเสริม ยกเว้นจะมีภัยพิบัติร้ายแรงที่เราต้องช่วยเหลือเกษตรกร
นายกรัฐมนตรี แสดงความเป็นห่วงเรื่องน้ำท่วมและภัยแล้ง การบริหารจัดการน้ำแบ่งเป็นสี่ส่วนคือ การบริโภค ระบบนิเวศ อุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ซึ่งปีนี้ฝนตกช้าและตกน้อย จึงได้กำชับเรื่องการเก็บน้ำ โดยสั่งการกรมชลประทาน ต้องเร่งแก้ปัญหาการกักเก็บน้ำ ควบคู่กับการทำเกษตรกรรมทั้งหมด
นายกรัฐมนตรี ยังได้ชี้แจงถึงการเดินทาง ไปประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 ที่สหรัฐอเมริกา ได้มีโอกาสเจอผู้นำหลายประเทศและเป็นการประกาศให้ชาวโลกรู้ว่าประเทศไทยเปิดแล้วในการทำธุรกิจทุกประเทศ เราจะมีผู้นำและรัฐบาลเดินทางไปพบปะกับทุกประเทศ เพื่อทำ เร่งเจรจาเพื่อขยายข้อตกลง FTA เพื่อเป็นการเปิดประเทศ ให้นักลงทุนเข้ามาและจากการที่ได้พบตัวแทนหลายบริษัท เช่นไมโครซอฟ เทสล่า ก็ให้ความสนใจ ที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านเหรียญ สำหรับการลงทุนอันยิ่งใหญ่ของประเทศไทย ที่ไม่ได้พึ่งจาก GDP ของภาคเกษตรเพียงอย่างเดียว ซึ่งไทยไม่ใช่มีเพียงวัฒนธรรม ภูเขา ทะเล หรือสถานที่ท่องเที่ยวเท่านั้น แต่เรายังมีโรงเรียนนานาชาติ สถานพยาบาล ไว้รองรับ
ส่วนเรื่องของสนามบินก็เป็นเรื่องสำคัญ ไม่เช่นนั้นความเจริญก็จะกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพมหานคร หรือภูเก็ตเท่านั้น ซึ่งในการท่องเที่ยวไม่ใช่เน้นนักท่องเที่ยวจำนวนนักท่องเที่ยว แต่ทำอย่างไรให้เขาอยู่ประเทศไทยนานขึ้น ทุกกระทรวงต้องร่วมมือกัน โปรโมทยกระดับการท่าอากาศยานให้รองรับเที่ยวบินมากขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการท่องเที่ยวไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ รวมถึงอาจจะมีการเปลี่ยนสนามบินในพื้นที่ภาคใต้ เป็นอันดามันแอร์พอร์ต หรือที่เชียงใหม่ เป็นล้านนาแอร์พอร์ต ต้องพัฒนาขึ้นจากเดิม เทหมดหน้าตักในการพัฒนาประเทศ บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้พี่น้องประชาชน
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะเดินทางไปญี่ปุ่นในเดือนธันวาคมนี้ และยืนยันไม่ลืมต้นน้ำที่ญี่ปุ่นเคยช่วยเหลือเรามาเป็น 10 ปี พร้อมยกตัวอย่าง กรณีของบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่น ที่มีความกังวลเรื่องตลาดรถอีวี ที่ส่งผลกระทบต่อตลาดรถญี่ปุ่น ซึ่งอาจทำให้อุตสาหกรรมดังกล่าวเดือดร้อน ซึ่งเราจะมีการพูดคุยกับสมาคมยานยนต์ให้ไทยเป็นศูนย์กลางของการผลิตรถยนต์สันดาปช่วงสุดท้าย ทำให้ช่วงเวลาที่จะปรับตัวกับช่วงเวลาที่จะเปลี่ยนแปลง พร้อมย้ำ รัฐบาลพร้อมสำหรับการเปิดประเทศ พูดคุยและรับข้อเสนอแนะ เพื่อดึงดูดการลงทุน สนับสนุนหน่วยงานรัฐ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจและเอกชน ให้ออกไปพูดคุยกับนานาประเทศ
ข้อมูลข่าวและที่มา
ผู้สื่อข่าว : ศักดิ์สิทธิ์ ประดับศิลป์ / สวท.
ผู้เรียบเรียง : ธนพิชฌน์ แก้วกา
แหล่งที่มา : Radio-สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย