"วันหัวใจโลก" กรมควบคุมโรค ชวนรู้ ดูแลหัวใจ ป้องกันการเสียชีวิตได้

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ทุกวันที่ 29 กันยายนของทุกปีเป็นวันหัวใจโลก (World Heart Day) สำหรับปี 2566 นี้ สหพันธ์หัวใจโลก รณรงค์ใช้ใจรับรู้ ดูแล และป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด มุ่งเน้นให้ประชาชนรับรู้ความสำคัญในการดูแลป้องกันโรคหัวใจ เพราะหัวใจเป็นอวัยวะสำคัญ ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย ตลอด 24 ชั่วโมง หากเกิดความผิดปกติต่อหัวใจ หัวใจจะทำงานหนักขึ้นจนอาจเกิดภาวะหัวใจวายถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากหลอดเลือดหัวใจตีบตันส่งผลให้หัวใจขาดเลือดไปเลี้ยง หัวใจจะทำงานแย่ลงหรือหยุดทำงานและเสียชีวิตได้
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ระบุว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของโลก ทั่วโลกเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดสมองมากกว่า 20 ล้านคน และร้อยละ 80 ของการเสียชีวิตสามารถป้องกันได้
สำหรับประเทศไทยจากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2565 พบการเสียชีวิตของคนไทยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมากถึง 70,000 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 8 คน และคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี สาเหตุเกิดจากหลอดเลือดไปเลี้ยงที่หัวใจตีบตัน ขาดความยืดหยุ่น เนื่องจากการสะสมของไขมัน โปรตีน และการอักเสบที่บริเวณผนังด้านในของหลอดเลือด
ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่มีความสัมพันธ์ กับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจคือ อายุ เพศ ประวัติครอบครัว ระดับความดันโลหิตที่สูง ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ระดับไขมันในเลือดสูง ภาวะอ้วนและน้ำหนักเกิน การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา โดยโรคนี้มักเป็นโรคแทรกซ้อนในผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง ความเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อผู้ป่วยมีความเครียด หรือไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาล ในเลือดหรือระดับความดันโลหิตได้ตามเป้าหมายการรักษาของแพทย์
อย่างไรก็ตาม โรคหัวใจและหลอดเลือด สามารถป้องกันได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยหลัก 3 อ. 2ส. คือ เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมอารมณ์ ความเครียด ไม่สูบบุหรี่และไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ ยังควรเลี่ยงมลพิษทางอากาศ เพราะจากข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ระบุว่า ทุกๆ ปี ประมาณ 7 ล้านคน หรือร้อยละ 25 ของการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดมีสาเหตุมาจากมลพิษทางอากาศ ประชาชนกลุ่มวัยทำงานอายุระหว่าง 25-59 ปี สามารถตรวจคัดกรองปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ตรวจวัดความดันโลหิตและตรวจเลือดคัดกรองโรคเบาหวาน ได้จากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือประกันสังคมตามสิทธิการรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และติดตามข้อมูลข่าวสารได้ทุกช่องทางของกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค สอบถามเพิ่มเติมสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
ข้อมูลข่าวและที่มา
ผู้สื่อข่าว : นฤมล อุดมพร / สวท.
ผู้เรียบเรียง : ธนพิชฌน์ แก้วกา
แหล่งที่มา : Radio-สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย