ปภ.ประสาน 4 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามลุ่มน้ำชี - มูล เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสาน 4 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือในลุ่มน้ำชี – มูล ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร และจังหวัดอุบลราชธานี โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ด้านท้ายน้ำเขื่อนลำปาวและพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมขัง ในช่วงวันที่ 26 ก.ย. – 5 ต.ค.66 โดยจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
พร้อมประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ รวมถึงแจ้งจังหวัดประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ตลอดจนจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยให้พร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง
ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 21/2566 แจ้งว่า สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำชี - มูล ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกหนัก เกิดน้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำ รวมทั้งมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำปริมาณมาก โดยเฉพาะเขื่อนลำปาว ปัจจุบันปริมาณน้ำ คิดเป็นร้อยละ 102.67 ของความจุเก็บกัก ต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำ ในอัตราวันละ 12 - 20 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนลำปาวมีระดับน้ำสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ด้านท้ายน้ำ นอกจากนี้ จากการติดตามสถานการณ์น้ำบริเวณสถานี M.7 อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 112.31 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง (ม.รทก.) ซึ่งสูงกว่าตลิ่ง 0.33 เมตร และปริมาณฝนตามคาดการณ์พบว่าในวันที่ 2 ตุลาคม 2566 ระดับน้ำจะสูงขึ้นถึงระดับ เมตร จากระดับทะเลปานกลาง (ม.รทก.) สูงกว่าตลิ่ง 0.84 ม. ซึ่งปริมาณน้ำจะล้นตลิ่ง และไหลหลากเข้าท่วมชุมชนที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ โดยมีพื้นที่ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมขัง ช่วงระหว่างวันที่ 26 กันยายน - 5 ตุลาคม 2566 ประกอบด้วย บริเวณพื้นที่ด้านท้ายน้ำเขื่อนลำปาว 3 จังหวัด ได้แก่ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ยางตลาด กมลาไสย ฆ้องชัย และร่องคำ จังหวัดกาฬสินธุ์ อำเภอโพธิ์ชัย เชียงขวัญ ธวัชบุรี เสลภูมิ ทุ่งเขาหลวง อาจสามารถ และพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด อำเภอเมืองยโสธร คำเขื่อนแก้ว มหาชนะชัย และค้อวัง จังหวัดยโสธร พื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ สว่างวีระวงศ์ และพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี
สำหรับประชาชนขอให้ติดตามข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด และเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น และหากได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือได้ ทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยได้ที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT”
ข้อมูลข่าวและที่มา
ผู้สื่อข่าว : ทรัพย์ทวี ศรีวิบูลย์
ผู้เรียบเรียง : ธนพิชฌน์ แก้วกา
แหล่งที่มา : สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย