รายงานพิเศษ : “ความสำเร็จการบริหารจัดการขยะใน อบต.ดอนแก้ว จนกลายเป็นอีกหนึ่งพื้นที่นำร่องของจังหวัดเชียงใหม่”

รายงานพิเศษ : “ความสำเร็จการบริหารจัดการขยะใน อบต.ดอนแก้ว จนกลายเป็นอีกหนึ่งพื้นที่นำร่องของจังหวัดเชียงใหม่”
กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ประสบความสำเร็จแก้ปัญหาขยะมูลฝอยในชุมชนของ อบต.ดอนแก้วจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนช่วยกันคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง จนกลายเป็น 1 ใน 4 ชุมชนนำร่องของจังหวัดเชียงใหม่
ปัญหา "ขยะมูลฝอย" ในประเทศไทย กลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษสำคัญที่เกิดขึ้นจากฝีมือของมนุษย์ มาจากพฤติกรรมการบริโภค การไม่แยกขยะจากต้นทาง การจัดการขยะที่ไม่ได้มาตรฐานจนเกิดมลพิษและไม่นำกลับมาใช้ซ้ำ เช่น ปฏิกิริยาเรือนกระจกที่มีสาเหตุจากการเทกองขยะจะปล่อยก๊าซมีเทน ซัลเฟอร์กับคาร์บอนไดออกไซต์ออกมา , ปัญหาขยะในทะเลที่กระทบต่อสภาพแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ของสัตว์ในทะเลหายาก ดังนั้น ระบบการคัดแยกขยะชุมชนจำเป็นต้องเป็นระบบและมีมาตรฐาน จึงควรร่วมมือกันระหว่างหลายหน่วยงานจัดการขยะให้เป็นสัดส่วนและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ทำให้ภาครัฐต้องอัปเดตข้อมูลปริมาณและสถานการณ์ของขยะในปัจจุบัน และนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้เพื่อให้เหมาะสมกับการจัดการในปัจจุบัน ส่วนภาคประชาชนต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทิ้ง การใช้ผลิตภัณฑ์ รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
“อบต.ดอนแก้ว” ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เป็น 1 ใน 4 พื้นที่นำร่องการดำเนินงานตามข้อเสนอรูปแบบการคัดแยกและเก็บขนขยะมูลฝอยแบบแยกประเภทของจังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้รับการคัดเลือกจากกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) , กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกรมอนามัย เนื่องจากประสบความสำเร็จการจัดการขยะมูลฝอยในพื้นที่จากการสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง พร้อมสนับสนุนให้ประชาชนจัดการขยะด้วยตนเอง โดยใช้ระบบการเก็บค่าธรรมเนียมขยะที่แตกต่างกัน 4 ราคาในรูปแบบ "บุฟเฟ่ต์ขยะ" หากจัดการเองได้มากค่าขยะจะถูกลง
ภาพรวมปริมาณขยะในพื้นที่ อบต.ดอนแก้ว ที่ผ่านมามีมากกว่า 2,900 ตันต่อปี มาจากประชาชน 800 ครัวเรือน ซึ่งปกติขยะเหล่านี้จะถูกนำไปฝังกลบเพียงอย่างเดียวไม่มีการคัดแยก จึงไม่เกิดการรีไซเคิลขยะจนหลุมฝังกลบขยะของจังหวัดเชียงใหม่เต็มและไม่เพียงพอ จนต้องว่าจ้างบริษัทเอกชนเข้าขนย้ายขยะไปกำจัดที่อำเภอดอยสะเก็ด ส่งผลให้สูญเสียงบประมาณมากกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี โดย กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้เข้ามาสนับสนุนแนวทางให้กับ อบต. ดอนแก้ว ให้ใช้ทรัพยากรที่อยู่อย่างจำกัดอย่างมีประสิทธิภาพขึ้น ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะของประเทศ ฉบับที่ 2 (2565 - 2570) นายพิทยา ปราโมทย์วรพันธุ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ(คพ.) ย้ำว่า ปัจจุบัน อบต.ดอนแก้ว สามารถดึงชุมชนกว่าร้อยละ 88 เข้าร่วมโครงการจัดการขยะมูลฝอย ด้วยการเชิญชวนประชาชนเริ่มคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง โดยแยกขยะออกเป็น 4 + 1 ประเภท คือ ขยะเปียก // ขยะแห้งทั่วไป (ขยะทั่วไป) // ขยะแห้งที่ใช้ประโยชน์ได้ (ขยะรีไซเคิล) และขยะอันตราย โดย อบต. ไม่แจกและตั้งถังขยะในชุมชน ที่จำเป็นต้องแยกก่อนทิ้งตั้งแต่ต้นทาง ทำให้ปัจจุบันเหลือขยะมูลฝอยมากำจัดเพียง 176 ตันต่อปี ส่วนอีกร้อยละ 12 ของชุมชนมาจากประชากรแฝงกว่า 10,000 คน และกลุ่มบ้านจัดสรร ที่ไม่สามารถคัดแยกขยะได้ จึงมีบริษัทเอกชนเข้ามาจัดเก็บขยะและมีค่าจัดเก็บขยะเฉลี่ยอยู่ที่ 153 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน
------------------ เสียง --------------------
ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ยังให้ อบต.ดอนแก้ว สร้างทีมงานจิตอาสาและทีมงานจัดการขยะมูลฝอยในชุมชน เพื่อให้มีคณะทำงานจัดการขยะในชุมชนและอาสาสมัครจัดเก็บขยะ เพื่อช่วยจัดการขยะและสร้างรายได้ให้กับผู้มีส่วนร่วมในการจัดการขยะชุมชน ประกันรายได้จิตอาสา และเก็บขยะให้เป็นอาชีพเสริม จนประชาชนในพื้นที่มีรายได้ประมาณ 3,500 บาทต่อเดือน โดยเก็บขยะช่วงเช้าเวลาประมาณ 05.00 - 06.00 น. ทำให้ไม่กระทบงานประจำ
ข้อมูลข่าวและที่มา
ผู้สื่อข่าว : ปิยาพรรณ ยังเทียน / สวท.
ผู้เรียบเรียง : กัลยา คงยั่งยืน / สวท.
แหล่งที่มา : สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย