รายงานพิเศษ : “การบริหารจัดการขยะบนเกาะเต่า”

รายงานพิเศษ : “การบริหารจัดการขยะบนเกาะเต่า”
เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา ภาครัฐและภาคเอกชน ได้เริ่มดีเดย์โครงการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ตลอดห่วงโซ่คุณค่า เพื่อแก้ปัญหาปริมาณขยะบนเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานีทั้งระบบ โดยนำร่องร้านค้าเลิกขายเบียร์ขวดเปลี่ยนเป็นเบียร์กระป๋องอลูมิเนียมแทนนำขยะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน
“เกาะเต่า” จังหวัดสุราษฎร์ธานี พบภาคการท่องเที่ยวขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะเป็นจุดดำน้ำระดับโลก จึงจำเป็นต้องเน้นเรื่องบริหารจัดการขยะในแหล่งท่องเที่ยวบนเกาะเป็นสำคัญ เนื่องจากที่ผ่านมาในแต่ละปีประสบปัญหาช่วงมรสุมประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคมจะรับลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมรสุมคลื่นลมจะพัดเอาขยะในทะเลซัดเข้าสู่ชายฝั่งด้านทิศตะวันออก ตั้งแต่อ่าวหินวง อ่าวหลังค่าย อ่าวเมา และอ่าวลึก ส่วนใหญ่ขยะจะเป็นประเภทพลาสติก ขวดแก้ว กระป๋อง เศษอวนจากเรือประมง และที่คนทิ้งลงไปในทะเลทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ
กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ร่วมกับ จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กรมการท่องเที่ยว เทศบาลตำบลเกาะเต่า มูลนิธิการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน (มูลนิธิ 3R) องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะเต่าและชมรมรักษ์เกาะเต่า ได้ทำโครงการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ด้วยการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ พัฒนาระบบขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (EPR) และระบบจัดการขยะมูลฝอยในพื้นที่เกาะเต่า เพื่อขับเคลื่อนให้เกาะเต่ามุ่งสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยมีภาคส่วนธุรกิจที่เกี่ยวข้องบนเกาะเต่าให้ความร่วมมือปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ที่เริ่มจากเบียร์ขวดให้เป็นเบียร์กระป๋องอลูมิเนียมแทนที่เริ่มมาแล้วตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ย้ำว่า จะช่วยลดปัญหาบรรจุภัณฑ์ที่ต้องถูกนำไปกำจัดและรณรงค์ลดการใช้ขยะพลาสติกต่างๆแบบใช้ครั้งเดียว (Single use plastic) ลดปริมาณที่ต้องนำไปกำจัด ปริมาณที่อาจหลุดรอดไปเป็นขยะทะเล และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ถือเป็นแนวทางการจัดการรูปแบบใหม่ที่หลายประเทศได้ดำเนินการแล้ว ขณะนี้ คพ. อยู่ระหว่างศึกษากฎหมายการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์อย่างไม่ถูกต้อง ด้วยการผลักดันให้ขยะเหล่านี้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยใช้หลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (EPR) จะให้ผู้ที่จำหน่ายบรรจุภัณฑ์หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆบนเกาะเต่าร่วมรับผิดชอบการนำบรรจุภัณฑ์หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆกลับคืนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และใช้เกาะเต่าเป็นพื้นที่นำร่องปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ต่างๆที่จะนำขึ้นเกาะ
จากการที่ “ภาคธุรกิจและเอกชนบนเกาะ” เห็นถึงความสำคัญและร่วมกันแก้ปัญหาขยะทะเลอย่างจริงจัง จะช่วยให้เกาะเต่าเป็นแหล่งดำน้ำที่มีความสวยงาม ไม่มีขยะพลาสติกในทะเล ไม่มีขยะขวดแก้วที่ตกค้างในพื้นที่ และมุ่งสู่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Eco – tourism) ที่ให้นักท่องเที่ยว ประชาชน ผู้ประกอบการ และภาครัฐมีส่วนร่วมจัดการร่วมกัน ตั้งแต่การเลือกประเภทผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมขึ้นไปยังเกาะเต่า โดยจะเน้นผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ได้ และยังลดปริมาณขยะที่เทศบาลตำบลเกาะเต่าจะต้องนำไปกำจัด
ข้อมูลข่าวและที่มา
ผู้สื่อข่าว : ปิยาพรรณ ยังเทียน / สวท.
ผู้เรียบเรียง : กัลยา คงยั่งยืน / สวท.
แหล่งที่มา : สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย