รายงานพิเศษ : “สรุปผลงานรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เกี่ยวกับนโยบายด้านป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติตลอด 9 ปีที่ผ่านมา”

รายงานพิเศษ : “สรุปผลงานรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เกี่ยวกับนโยบายด้านป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติตลอด 9 ปีที่ผ่านมา”
รัฐบาล ประสบความสำเร็จการบริหารจัดการพื้นที่ป่าและการออกกฎหมายน้ำฉบับแรกของประเทศ หลังปรับปรุงกฎหมายที่ช่วยให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐเปลี่ยนจากความขัดแย้งเป็นช่วยกันปกป้องและรักษาทรัพยากรธรรมชาติ
ช่วงหลายปีที่ผ่านมารัฐบาลชุด พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินหน้าแก้ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การรุกล้ำ หรือการเข้าไปใช้ประโยชน์พื้นที่ในหลากหลายมิติมากขึ้น จากเดิมมักเลือกแก้ปัญหาด้านการอนุรักษ์เพียงอย่างเดียว จนอาจเกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชนที่อยู่โดยรอบพื้นที่กับเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปคนสามารถอยู่กับป่าได้อย่างสมดุลและเกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการปรับแก้กฎหมายหลายฉบับเพื่อให้คนที่อยู่รอบผืนป่าสามารถใช้ประโยชน์จากป่าได้อย่างถูกกฎหมาย แต่อยู่ภายใต้เงื่อนไขการอนุรักษ์ทรัพยากรผืนป่าและสร้างความหวงแหน ควบคู่กับสนับสนุนให้ประชาชนปลูกไม้มีค่าในที่ดินของตนเอง มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้อง สามารถทำไม้ ตัด แปรรูป และส่งออกได้อย่างถูกกฎหมาย จนเกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ประเทศ ขณะเดียวกันรัฐบาลยังเดินหน้าสนับสนุนสร้างรายได้เสริมเพิ่มให้กับชุมชนจากโครงการคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นตลาดการค้าด้านทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่มีการเติบโตอย่างมากในการขายคาร์บอนเครดิต ทั้งในพื้นที่ป่าทั่วประเทศ ชุมชน และเขตเมืองขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เช่นเดียวกับการแก้ปัญหาการทับซ้อนกันของที่ดิน ภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) สามารถแก้ปัญหาข้อพิพาทเรื่องแนวเขตที่ดินระหว่างหน่วยงานของรัฐกับประชาชน ด้วยการพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินของบุคคลในเขตที่ดินของรัฐให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในที่ดินของรัฐ โดยจัดคนเข้าใช้ประโยชน์ให้มีที่อยู่อาศัยและมีที่ดินทำกิน โดยเฉพาะการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 หรือ One Map แบ่งพื้นที่ทั่วประเทศออกเป็น 7 กลุ่ม กลุ่มละ 11 จังหวัด ตั้งเป้าจะเร่งขับเคลื่อนให้ครบถ้วนทุกจังหวัดทั่วประเทศภายในปี 2567 ซึ่งประชาชนจะได้ทราบถึงขอบเขตที่ดินของรัฐที่ชัดเจนและตรวจสอบได้สะดวก ส่งผลให้การทำประโยชน์ในที่ดินหรือการใช้ที่ดินได้อย่างถูกต้อง โดยไม่รุกล้ำที่ดินของรัฐ ที่สำคัญไม่เป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชน แต่เป็นการให้โอกาสประชาชนพิสูจน์สิทธิ์เป็นพื้นฐานให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ด้วย ควบคู่กับพัฒนาและยกระดับการทำงานให้มีประสิทธิภาพเป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ย้ำว่า ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถเพิ่มพื้นที่ป่าได้สำเร็จตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้ได้ร้อยละ 55 ภายในปี 2580 ซึ่งป่าชุมชนยังเป็นแหล่งเศรษฐกิจฐานรากที่สำคัญของประเทศ ตามแนวคิดเศรษฐกิจใหม่ BCG Model เพื่อแก้ปัญหาความยากจนและเป็นแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจก ทำให้ไทยก้าวเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนตามเป้าหมายที่ได้ประกาศไว้อย่างสมบูรณ์ ปัจจุบันประเทศไทยจัดตั้งป่าชุมชนไปแล้วกว่า 11,327 แห่ง มีชุมชนที่มีส่วนร่วมดูแลอนุรักษ์ และได้ใช้ประโยชน์กว่า 13,028 หมู่บ้าน รวมพื้นที่กว่า 6.29 ล้านไร่ โดยตั้งเป้าขยายการจัดตั้งป่าชุมชนทั่วประเทศเพิ่มขึ้นให้ได้ 15,000 แห่ง รวมพื้นที่ถึง 10 ล้านไร่ เพื่อให้ไทยมีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมรองรับโมเดลเศรษฐกิจสีเขียว และตลาดการค้าคาร์บอนเครดิตที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย ที่มีไทยเป็นศูนย์กลางการเงินการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคอาเซียน
ขณะที่นโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศไทย รัฐบาล สามารถผลักดันจนเกิดพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ฉบับแรกของไทยขึ้นสำเร็จ เพื่อใช้เป็นกฎหมายบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบของประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมาไทยประสบปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำหลายด้านและขาดความเป็นเอกภาพ กฎหมายฉบับนี้จึงช่วยกำหนดมาตรกาป้องกันและแก้ปัญหาน้ำแล้ง-น้ำท่วม วางหลักเกณฑ์การประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำสาธารณะและเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนร่วมกันบริหารจัดการทรัพยากรน้ำมากขึ้น ถือเป็นกฎหมาย 1 ใน 3 เสาหลักที่เป็นกลไกบริหารจัดการน้ำของประเทศ ร่วมกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และมีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) เป็นหน่วยงานขับเคลื่อน ทั้งระดับนโยบาย ระดับชาติ จนถึงระดับท้องถิ่น
ข้อมูลข่าวและที่มา
ผู้สื่อข่าว : ปิยาพรรณ ยังเทียน / สวท.
ผู้เรียบเรียง : กัลยา คงยั่งยืน / สวท.
แหล่งที่มา : สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย