รายงานพิเศษ : “แผนรับมือฤดูฝนและเอลนีโญ”

รายงานพิเศษ : “แผนรับมือฤดูฝนและเอลนีโญ”
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนมาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้เพิ่มเติมจากเดิมอีก 3 มาตรการ หลังคาดการณ์สถานการณ์เอลนีโญจะกลับมารุนแรงอีกครั้งปลายปีนี้
องค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศเตือนการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศบนโลก โดยระบุว่าเดือนกรกฎาคมปีนี้เป็นช่วงฤดูร้อนที่’’ร้อนสุดเป็นประวัติการณ์ของมนุษยชาติ’’ ซึ่งเป็นสัญญาณของโลกได้เข้าสู่ “ยุคโลกเดือด” (Global Boiling) แล้ว เพราะหมด “ยุคโลกร้อน” ที่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ขณะเดียวกันปีนี้มหาสมุทรใหญ่ของโลกยังเข้าสู่ช่วงเอลนีโญและคลื่นความร้อนแผ่ปกคลุม จนเกิดสภาพอากาศร้อนจัด และมีอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือจนเกิดไฟป่ารุนแรงในหลายพื้นที่ แล้วอุณหภูมิของคลื่นความร้อนยังส่งผลให้ทำให้พืชบางระดับบางสายพันธุ์หยุดเจริญเติบโตและหยุดผลิดอกออกผล
ปัจจุบัน “ประเทศไทย” ยังคงอยู่ในสภาวะเอลนีโญกำลังอ่อนที่มีแนวโน้มจะแรงขึ้นช่วงปลายปีนี้ ก่อนจะอ่อนกำลังลงแล้วต่อเนื่องไปจนถึงต้นปี 2567 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) จึงกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าแผนรับมือฤดูฝนปีนี้อย่างเคร่งครัดและมีมาตรการเพิ่มเติมอีก 3 มาตรการ เพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ ประกอบด้วย จัดสรรน้ำให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด // ควบคุมการเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง และสุดท้าย เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ โดยจะดำเนินการควบคู่กับ 12 มาตรการรับมือฤดูฝนเดิมอย่างเคร่งครัด เพื่อบริหารจัดการน้ำภายใต้สภาวะเอลนีโญให้ผ่านพ้นไปอย่างราบรื่นและส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด
ภาพรวมพบมีเกษตรกรทำนาปีทั่วประเทศไปแล้วประมาณ 14.40 ล้านไร่ หรือร้อยละ 85 ของแผนฯ เก็บเกี่ยวแล้วประมาณ 980,000 ไร่ โดยลุ่มน้ำเจ้าพระยาทำนาปีไปแล้ว 7.34 ล้านไร่ หรือร้อยละ 91 ของแผนฯ และเก็บเกี่ยวไปแล้ว 960,000 ไร่ นายธรรมพงศ์ เนาวบุตร ผู้อำนวยการกลุ่มวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์น้ำ รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ย้ำว่า กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์พบสถานการณ์เอลนีโญมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลให้ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 - เมษายน 2567 มีปริมาณน้ำในเขื่อนใช้การได้ประมาณ 7,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพียงพอสำหรับการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย จึงให้กรมชลประทานประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือเกษตรกรที่ได้ทำการเพาะปลูกข้าวนาปีรอบแรกและเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ งดเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอ พร้อมเร่งเก็บกักน้ำช่วงปลายฤดูฝนให้ได้มากที่สุด
สำหรับช่วงปี 2563 – 2565 ที่ผ่านมา ประเทศไทยตรวจพบน้ำร้อนในทะเลสูงขึ้น ที่ส่งผลให้เกิดภาวะแห้งแล้งและร้อนยาวถึงปี 2567 แล้วมีแนวโน้มยาวนานไปตลอดทั้งปี ซึ่งกระทบประเทศไทยแน่นอนทั้งภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม จึงจำเป็นต้องบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบและกักเก็บน้ำไว้ใช้ให้เพียงพอ
ข้อมูลข่าวและที่มา
ผู้สื่อข่าว : ปิยาพรรณ ยังเทียน / สวท.
ผู้เรียบเรียง : กัลยา คงยั่งยืน / สวท.
แหล่งที่มา : สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย