รายงานพิเศษเรื่อง ด่านศุลกากรกันตัง จังหวัดตรัง ประตูเชื่อมเศรษฐกิจที่มีมูลค่าการส่งออกสินค้าปีละกว่า 9,800 ล้านบาท

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อการส่งออกและนำเข้าสินค้าของไทย แต่เมื่อสถานการณ์โควิด 19 คลี่คลาย การส่งออกและนำเข้าสินค้าผ่านทางท่าเรือกันตัง จังหวัดตรัง กลับมาคึกคักอีกครั้ง รายละเอียดเป็นอย่างไร ติดตามได้จากรายงาน
ด่านศุลกากรกันตัง จังหวัดตรัง ทำหน้าที่รับปฏิบัติพิธีการศุลกากรแก่สินค้าที่นำเข้าและส่งออก สามารถรองรับการขยายตัวการนำเข้า-ส่งออกและเศรษฐกิจของจังหวัดตรังที่มีความเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว หลังสถานการณ์โควิด 19 คลี่คลาย
โดยนางสาวจินตนา คงเมือง นายด่านศุลกากรจังหวัดตรัง กล่าวว่า จังหวัดตรัง มีสินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ปุ๋ยและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เนื่องจากพื้นที่จังหวัดตรังส่วนใหญ่เป็นภาคการเกษตร
ปัจจุบันมีสินค้าภาคการเกษตรที่ย้ายฐานการผลิตนำเข้าจากเดิม คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งประเทศไทยนำเข้าจากเมียนมาร์ เดิมเคยนำเข้าผ่านทางด่านศุลกากรแม่สอด ปัจจุบันย้ายมานำเข้าผ่านทางด่านศุลกากรกันตัง โดยได้รับอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำเข้าในช่วงเวลาเดือนกุมภาพันธ์ถึงสิงหาคม
ในขณะที่สินค้าส่งออกหลัก ๆ มีผลิตภัณฑ์จากยางพารา ไม้ยางพาราแปรรูป ปูนซีเมนต์อัดเม็ดและแร่ยิปซั่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์จากยางพาราและไม้ยางพาราแปรรูป มีการส่งออกที่ท่าเรือศุลกากรกันตังทั้งท่าเรือของเอกชนและท่าเรือของท้องถิ่น เพื่อส่งไปยังประเทศปลายทาง มีมูลค่าการส่งออกปีละกว่า 7 พันล้านบาท
ทั้งนี้ ปริมาณสินค้านำเข้าค่อนข้างน้อย ในขณะที่ สินค้าส่งออกภาคการเกษตร ทั้งจากในพื้นที่จังหวัดตรังและจังหวัดใกล้เคียงในภาคใต้ที่มาใช้บริการที่ท่าเรือกันตังด้วย ถือว่ามีมูลค่าสูงมาก โดยรวมมูลค่าการส่งออกตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 ถึงสิงหาคม 2566 มีมูลค่าการส่งออกกว่า 9,800 ล้านบาท
จากศักยภาพของจังหวัดตรัง ที่มีเส้นทางคมนาคมขนส่งที่สะดวกทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ สามารถรองรับการขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือกันตัง สู่ท่าเรือปีนัง ประเทศมาเลเซีย ได้อย่างสะดวก อีกทั้งยังมีท่าเรือทั้งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและท่าเรือเอกชนหลายแห่ง ทำให้เป็นโอกาสดีสำหรับจังหวัดตรังที่จะกลายเป็นเมืองเศรษฐกิจด้านการค้าและการลงทุน
โดยมีด่านศุลกากรกันตัง ที่พร้อมรองรับระบบงานศุลกากรด้านการนำเข้า-ส่งออกทางทะเลอันดามันและทางบก โดยนำระบบงานศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัยมาใช้ เพื่อสนับสนุนการค้าและการลงทุนในภูมิภาค รองรับเศรษฐกิจของจังหวัดตรังที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วและมีความพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางการนำเข้า-ส่งออกสินค้าทางฝั่งทะเลอันดามันและเป็นประตูการเชื่อมต่อเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาคอาเซียน
ข้อมูลข่าวและที่มา
ผู้สื่อข่าว : ยอยศพร อรรคไกรสีห์
ผู้เรียบเรียง : กนกพร ประสงค์
แหล่งที่มา : สวท.ตรัง