สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสและจังหวัดปัตตานี

วันนี้ 25 พฤษภาคม 2566 เวลา 10 นาฬิกา 52 นาที สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามการดำเนินงานโครงการหมู่บ้านปศุสัตว์-เกษตรมูโนะ หมู่ 4 ตำบลโฆษิต อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นศูนย์สาขาที่ 3 ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกร ดำเนินการสาธิตการใช้ประโยชน์และพัฒนาพื้นที่ดินเปรี้ยวจัดและเพื่อให้เป็นหมู่บ้านตัวอย่างในการพัฒนาอาชีพด้านการปศุสัตว์
ปัจจุบันดำเนินงานตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการสืบสาน รักษา ต่อยอด เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน โดยมีสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือสำนักงาน กปร. ให้การสนับสนุนและประสานการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนแม่บทของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ด้านปศุสัตว์และการเกษตร ในลักษณะการสาธิตและขยายผลไปยังเกษตรกรในพื้นที่โครงการฯ และพื้นที่โดยรอบ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่
ด้วยสภาพพื้นที่ในโครงการฯ ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมขัง ดินมีสภาพเป็นกรดจัดและมีอินทรีย์วัตถุมาก ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จึงได้ดำเนินการปรับสภาพดินด้วยปูน ปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ สามารถใช้ประโยชน์ทำการเกษตรได้
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ดำเนินการก่อสร้างระบบคูส่งน้ำ คลองระบายน้ำ ปรับปรุงและเสริมคันดินกั้นน้ำรอบโครงการโดยบนคันดินปรับเป็นผิวจราจรใช้สำหรับสัญจร และสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ รวมทั้งก่อสร้างถังเก็บน้ำพร้อมระบบประปา ส่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การเลี้ยงปศุสัตว์และการเกษตรในพื้นที่โครงการฯ
สำหรับโครงการหมู่บ้านปศุสัตว์-เกษตรมูโนะ มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 1,500 ไร่ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ พื้นที่ศูนย์สาธิตการเลี้ยงสัตว์โครงการหมู่บ้านปศุสัตว์-เกษตรมูโนะ จำนวน 516 ไร่ มีโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ 12 โรงเรือน อาทิ โคเนื้อ แพะ แกะ ไก่ลูกผสมพื้นเมือง เป็ดอี้เหลียง เป็ดเทศ และการเลี้ยงปลาในกระชัง รวมทั้งแปลงปลูกหญ้าเพื่อเป็นอาหารสัตว์
พื้นที่จัดสรรที่ดินให้แก่เกษตรกรสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยที่ทำกิน จำนวน 409 ไร่ ปัจจุบันมีสมาชิก 49 ครัวเรือน 129 คน ซึ่งได้รับการจัดสรรที่ดินครัวเรือนละ 3 ถึง 6 ไร่ อาทิ แปลงจัดสรรของนายแป แลดไธสง เนื้อที่ 3 ไร่ ซึ่งได้รับการจัดสรรที่ดินเมื่อปี 2542 เริ่มจากการทำเกษตรแบบเชิงเดียวและได้พัฒนาเป็นเกษตรแบบผสมผสานจนประสบผลสำเร็จ เป็นต้นแบบและแหล่งเรียนรู้ด้านการทำเกษตรแบบผสมผสานโดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีกิจกรรมต่างๆ อาทิ การปลูกพืชผักยกแคร่ ไม้เลื้อย เลี้ยงปลาในกระชัง เลี้ยงวัว ไก่พันธุ์พื้นเมือง เป็ดไข่ และเป็ดเทศ ทำให้มีผลผลิตสำหรับบริโภคและจำหน่ายตลอดทั้งปี ในปี 2565 มีรายได้ 99,790 บาท สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน และส่วนที่ 3 พื้นที่ ใช้ประโยชน์ส่วนรวมของหมู่บ้าน จำนวน 575 ไร่
ปัจจุบันเกษตรกรในพื้นที่โครงการฯ ส่วนใหญ่ปลูกไม้ยืนต้น พืชผักหมุนเวียน ไม้ผลผสมผสาน ร่วมกับการปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมัน การปศุสัตว์ และประมง ทั้งนี้ ในปี 2565 มีรายได้เฉลี่ย 213,746 บาท/ครัวเรือน
เวลา 14 นาฬิกา 37 นาที เสด็จพระราชดำเนินไปยังเมืองโบราณยะรัง ตำบลยะรัง อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ทอดพระเนตรโบราณสถานสำคัญในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 12 ประมาณ 1,400 ปีมาแล้ว ซึ่งเป็นชุมชนสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ ตั้งอยู่ในเขตลุ่มน้ำปัตตานี
ปี 2449 เริ่มมีการศึกษาพัฒนาการของเมืองโบราณระยะแรก เป็นการศึกษาจากเอกสารของนักวิชาการชาวต่างชาติและชาวไทย จากนั้นกรมศิลปากรได้ดำเนินงานทางด้านโบราณคดีอย่างเป็นทางการในปี 2531 พบว่า เมืองโบราณยะรัง เป็นกลุ่มโบราณสถาน ครอบคลุมพื้นที่ ประมาณ 7.5 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย เนินโบราณสถานที่ สำรวจพบแล้ว 33 แห่ง ป้อมมุมเมือง 4 แห่ง กำแพงเมือง 1 แห่ง และปรากฎคูน้ำ คันดินและสระน้ำโบราณอีกหลายแห่ง สามารถแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มโบราณสถานบ้านวัด กลุ่มโบราณสถานบ้านจาเละ และกลุ่มโบราณสถานบ้านประแว กรมศิลปากร ได้จัดทำโครงการศึกษาและขยายฐานความรู้เมืองโบราณยะรัง มีการขุดค้นทางโบราณคดีเพิ่มเติม ที่โบราณสถานบ้านจาเละ หมายเลข 1,2,8 และ 9 มีการศึกษาวิเคราะห์โบราณวัตถุด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ ทำการสำรวจเมืองโบราณยะรังด้วยเทคโนโลยีไลดาร์ ศึกษาสภาพแวดล้อมและชายฝั่งทะเลโบราณ โดยมีการดำเนินงานด้านโบราณคดีแบบสหวิทยาการโดยกรมศิลปากร ร่วมกับโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ
บริเวณที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรครั้งนี้ เป็นกลุ่มโบราณสถานบ้านจาเละ ซึ่งอยู่บริเวณพื้นที่ตอนกลางของเมืองโบราณยะรัง มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู มีคูเมือง 2 ด้าน สันนิษฐานว่า เป็นพื้นที่ประกอบกิจกรรมด้านศาสนา จากรูปแบบสถาปัตยกรรม มีโบราณสถานหมายเลข 1,2,3,8, และ 9 อยู่ในกลุ่มเดียวกัน มีโบราณสถานหมายเลข 8 เป็นประธาน
ซึ่งกรมศิลปากรขุดค้นทางโบราณคดี เมื่อปี 2535 พบเป็นอาคารก่อด้วยอิฐไม่สอปูน หันหน้าไปทางทิศตะวันตก อาคารหลัก มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ส่วนฐานลักษณะเป็นฐานเขียงรองรับผนัง ซึ่งสร้างเลียนแบบอาคารไม้ประดับเสาหลอกทั้ง 4 ด้าน ด้านบนของฐานปรากฎห้องอยู่ในแผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ไม่ปรากฏทางเข้าไปยังห้องด้านใน ส่วนด้านนอกเป็นลานประทักษิณและพบฐานเสาหินรูปวงกลม ตั้งอยู่มุมละ 1 ฐาน อาคารโถงด้านหน้า เป็นส่วนที่ต่อเติมมาทางด้านหน้าของอาคารหลัก ด้านในสุดตรงที่เชื่อมต่อกับอาคารหลักปรากฏการก่ออิฐเป็นแท่งรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสันนิษฐานว่าเป็นที่ประดิษฐานประติมากรรมรูปวัวหินทราย อีกทั้งได้พบหม้อบรรจุกระดูกมนุษย์ สันนิษฐานว่าอาจเป็นกระดูกพระสงฆ์ที่มีความสำคัญในอดีต
เวลาต่อมา เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโบราณสถานบ้านวัด หมายเลข 9 เป็นโบราณสถานที่กรมศิลปากรขุดค้นทางโบราณคดี ระหว่างปี 2545 ถึง 2546 และดำเนินการเพิ่มเติมอีกครั้งในปี 2566 พบโบราณสถานสร้างด้วยอิฐจำนวน 1 หลัง และพบโบราณวัตถุ เช่น ประติมากรรรมปูนปั้นรูปช้าง ชิ้นส่วนของภาชนะดินเผา พวยกาดินเผาและลูกปัดแก้ว สันนิษฐานว่า โบราณสถานนี้เป็นศาสนสถานเนื่องในพุทธศาสนา ทั้งนี้การนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยในการดำเนินงานทางโบราณคดี ทำให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ข่าวในพระราชสำนัก สทท.
ข้อมูลข่าวและที่มา
ผู้สื่อข่าว : สายข่าวในพระราชสำนัก NBT
ผู้เรียบเรียง : ธนพิชฌน์ แก้วกา
แหล่งที่มา : สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย