ประมวลข่าวทั่วไทยประจำวันที่ 16 พฤษภาคม 2566

ประมวลข่าวทั่วไทยประจำวันที่ 16 พฤษภาคม 2566
การเมือง/มั่นคง
สมาชิกวุฒิสภา เผยยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเลือกผู้ใดเป็นนายกรัฐมนตรีต้องรอ กกต. รับรองผลการเลือกตั้งก่อน
นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ว่า เป็นเรื่องดีที่ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์เป็นจำนวนมาก คาดว่าเดือนกรกฎาคมนี้ จะสามารถเปิดประชุมรัฐสภาได้ จากนั้นภายใน 15 วัน จะเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอน ประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี แต่จนถึงขณะนี้ยังตอบไม่ได้ว่า ส.ว. จะเลือกใคร
เบื้องต้นทราบว่านายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เสนอตัวเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี แต่ยังไม่ยืนยันว่าจะมีเพียงชื่อเดียวหรือไม่ เพราะพรรคอื่นอาจเสนอชื่อมาอีก จึงยังบอกไม่ได้ว่าจะเลือกใครต้องรอให้ กกต. รับรองผลการเลือกตั้งก่อน ทั้งนี้ ส่วนตัวมีกติกาชัดเจนว่า ผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต มีวิสัยทัศน์นำพาประเทศไปสู่ความเจริญ ไม่สร้างความขัดแย้งและไม่ก่อให้เกิดสงครามกลางเมือง ที่สำคัญต้องมีความรอบรู้ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ การบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน
ขณะเดียวกัน ยังมีปัจจัยแวดล้อมที่ต้องพิจารณา เช่น รัฐบาลใหม่จะสามารถพาประเทศไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม เห็นว่าไม่ควรสร้างแรงกดดันให้ ส.ว. เพราะเชื่อว่า ส.ว. มีวุฒิภาวะในการพิจารณาเลือก
นายสมชาย แสวงการ ยังเชื่อว่า พรรคก้าวไกลอาจรวมเสียงได้ไม่ถึง 309 เสียง เพราะยังมีบางพรรคที่มีปัญหาต้องพิจารณาอีกหลายอย่างประกอบ เช่นการเสนอแก้ไขมาตรา 112 ที่หลายคนเป็นกังวล ดังนั้นต้องระบุให้ชัดเจนว่าจะแก้ไขหรือยกเลิก นอกจากนี้ นายพิธา ต้องพิสูจน์เรื่องการถือครองหุ้นในบริษัทสื่อมวลชนที่ยังประกอบกิจการอยู่ด้วย ซึ่ง กกต. จะต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพื่อให้การขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีของนายพิธา เป็นที่ยอมรับของสังคม เช่นเดียวกับหลายคนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีต้องตรวจสอบการถือครองหุ้นของตัวเองให้ชัดเจนด้วย
เศรษฐกิจ/ท่องเที่ยว
ผู้ประกอบการกังวลค่าไฟ - ราคาน้ำมัน ส่งผลดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมติดลบ
นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พร้อมนายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ เปิดเผยว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน 2566 จากการสำรวจผู้ประกอบการจำนวน 1,164 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 95.0 ปรับตัวลดลงจากระดับ 97.8 ในเดือนมีนาคมปรับตัวลดลงครั้งแรกใน 4 เดือน
นอกจากนี้ พบว่าปรับตัวลดลงเกือบทุกองค์ประกอบ คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตและผลประกอบการยกเว้นตันทุนประกอบการที่ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ที่ปรับตัวลดลงโดยมีปัจจัยลบจากการชะลอตัวเนื่องจากวันหยุดต่อเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ทั้งนี้ผลกระทบเศรษฐกิจโลกถดถอย ขณะเดียวกันความเชื่อมั่นด้านต้นทุนประกอบการยังอยู่ในระดับต่ำ ผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทยอยปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs มีภาระหนี้เพิ่มขึ้น
คาดการณ์ว่า 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 105.0 ปรับตัวลดลง จาก 106.3 ในเดือนมีนาคม เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง ประเทศคู่ค้าชะลอตัวส่งผลลบต่อภาคการส่งออกของไทย ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานและราดาวัตถุดิบในตลาดโลก ทำให้ต้นทุนการผลิตยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะค่าไฟฟ้า
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกจากอัตราค่าระวางเรือ ที่ทยอยปรับลดลงตั้งแต่ช่วงตันปี 2566 การขยายตัวการบริโภคในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในประเทศ
เกษตรกรรม/สิ่งแวดล้อม
ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สร้างความเข้มแข็งให้สถาบันเกษตรกร
นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ ธ.ก.ส. ดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2565/66 วงเงินรวม 1,000 ล้านบาท เพื่อให้สถาบันเกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนในการรับซื้อ รวบรวมหรือแปรรูปข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จากเกษตรกรผู้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2565/66 กับกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งจะช่วยดูดซับปริมาณผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในช่วงที่ผลผลิตออกมาจำนวนมากและราคาตกต่ำ อันเป็นการสนับสนุนให้องค์กรเกษตรกรได้ทำหน้าที่เป็นกลไกในการสร้างเสถียรภาพด้านราคาและเพิ่มอำนาจต่อรองทางการตลาด รวมถึงเพิ่มทางเลือกในการจำหน่ายผลผลิตและช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรรายย่อย
คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ ต้องเป็นสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน ที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทั้งการรับซื้อ รวบรวม แปรรูป หรือใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ วงเงินแบ่งตามประเภทลูกค้า ได้แก่ สหกรณ์การเกษตร วงเงินไม่เกิน 300 ล้านบาท กลุ่มเกษตรกร วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท และวิสาหกิจชุมชน วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี โดยผู้กู้จ่ายดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 1 และรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยแทนร้อยละ 3 ต่อปี ไม่เกิน 12 เดือน กำหนดชำระคืนภายใน 12 เดือน และชำระเสร็จสิ้นภายใน 31 พฤษภาคม 2567 สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ สามารถติดต่อได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่บัดนี้ถึง 31 พฤษภาคมนี้
กรมอุทยานฯ ปรับขึ้นเงินเดือนผู้พิทักษ์ป่า จาก 9,000 บาท เป็น 11,000 บาท หลังไม่ได้ปรับมา 11 ปี
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และรักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า ได้ส่งหนังสือไปถึงอธิบดีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เพื่อขอปรับเพิ่มค่าตอบแทนหรือเงินเดือนของบุคคลภายนอกที่ปฏิบัติงานให้กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตำแหน่งผู้พิทักษ์ป่า 13,419 อัตรา เนื่องจากมีการปรับอัตราค่าตอบแทนครั้งสุดท้ายตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 จาก 6,000 บาท เป็น 9,000 บาทต่อเดือนจนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลานานถึง 11 ปีแล้ว ถือว่าไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่ได้เปลี่ยนแปลงไป โดยหากเทียบเงินค่าตอบแทนกับภาระงานที่ปฏิบัติและความเสี่ยงภัยที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา กับบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านอื่นแล้วจะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างอย่างมาก ทั้งด้านอัตราค่าจ้าง ค่าตอบแทน สวัสดิการและขวัญกำลังใจ โดย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กำชับมาโดยตลอดให้ดูแลเรื่องค่าตอบแทน สวัสดิการ และสวัสดิภาพของเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าให้ดีที่สุด ทำให้กรมอุทยานฯได้ทำเรื่องส่งกรมบัญชีกลางเพื่อขอปรับค่าตอบแทนให้เป็นไม่เกิน 11,000 บาทต่อคนต่อเดือน และขอให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป
สังคม
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ยืนยันไม่มีเป้าหมายยุบโรงเรียนขนาดเล็ก
นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงจัดตั้ง ยุบ รวม หรือเลิกสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอนั้น กรณีนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเดิมมีระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการจัดตั้ง รวม หรือเลิกสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2550 บังคับใช้อยู่แล้ว แต่เมื่อมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการออกมา เกรงว่าระเบียบดังกล่าวจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงต้องปรับแก้จากระเบียบกระทรวง มาเป็นกฎกระทรวงตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเมื่อ ครม. ให้ความเห็นชอบแล้ว จะต้องเสนอร่างกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวให้กฤษฎีกาพิจารณาอีกครั้ง ก่อนเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการลงนามก่อนประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาอย่างเป็นทางการต่อไป
นายอัมพร กล่าวเพิ่มเติมว่า กฎกระทรวงดังกล่าวจะมีความเปลี่ยนแปลงจากระเบียบเดิมในเรื่องการขอยุบสถานศึกษา ซึ่งเดิมจะต้องเสนอให้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) พิจารณามาเป็นเสนอให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ให้ความเห็นชอบได้เลย เป็นการกระจายอำนาจ ลดขั้นตอนให้กระบวนการทุกอย่างจะจบลงที่จังหวัด การออกกฎกระทรวงนี้ มีการเพิ่มในเรื่องของการยุบสถานศึกษาเข้าไปนั้น ไม่ได้เปิดโอกาสให้ยุบโรงเรียนขาดเล็ก เพราะขณะนี้ สพฐ. เน้นในเรื่องการให้เด็กมาเรียนร่วมกัน โรงเรียนที่มีทรัพยากรพร้อม ช่วยเหลือโรงเรียนที่ขาดแคลน เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่คุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด
ข้อมูลข่าวและที่มา
ผู้สื่อข่าว : ธนพิชฌน์ แก้วกา
ผู้เรียบเรียง : ธนพิชฌน์ แก้วกา
แหล่งที่มา : หน่วยงานสำนักข่าว