ชาวสวนทุเรียน บันนังสตายะลา ตื่นตัวใช้แสงไฟไล่ผีเสื้อกลางคืน ป้องกันหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน พร้อมสร้างแบรนด์“ทุเรียนใต้แสงไฟ”

เกษตรกรชาวสวนทุเรียนอำเภอบันนังสตา หัวก้าวหน้าคิดค้นนวัตกรรมป้องกันหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนแบบง่าย แต่ลดการสูญเสียทุเรียนรู ได้ผลร้อยละ 90 โดยใช้แสงไฟ LED ส่องสว่าง ใคร ๆ ก็ทำได้ ต้นทุนต่ำ ปลอดภัยทั้งคนใช้และผู้บริโภค แถมเปลือกยังเป็นสีเหลืองทอง ตั้งเป้าปี 2566 เตรียมขายผลผลิตภายใต้แบรนด์ “ทุเรียนใต้แสงไฟ” ด้านเกษตรจังหวัด ขานรับเทคโนโลยีใหม่ ทำแปลงต้นแบบขยายผลทั้ง 8 อำเภอ
“วิวหลักล้าน” บรรยากาศแสงสียามค่ำคืน ที่เห็นเป็นดวงไฟสีขาว สีส้ม สีแดง สวยงามบนยอดเขา ในพื้นที่ตำบลตาเนาะปูเต๊ะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เกิดจากนวัตกรรมการใช้แสงไฟ LED นำมาไล่แมลง เพื่อป้องกันหนอนเจาะทุเรียนของชาวสวนทุเรียนในพื้นที่ ภายใต้แบรนด์ ทุเรียนสะเด็ดน้ำใต้แสงไฟคุณภาพ 100% ที่ทำแล้วเห็นผล ไม่ทำลายธรรมชาติ
สำหรับแนวคิดนี้ นายอุทัย หงส์เพชร เกษตรกรต้นแบบริเริ่มการใช้แสงไฟป้องกันหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน บ้านเลขที่ 16 หมู่ที่ 7 ตำบลตาเนาะปูเต๊ะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา พร้อมด้วย นายบุญรวย ภูมิแก้ว และนายสว่าง นุโรจน์ ได้ร่วมพูดคุย ถึงหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของชาวสวนทุเรียน ทุก ๆ ปี จะมีผลผลิตเสียหายจากการถูกหนอนเจาะหรือที่เรียกกันว่าทุเรียนรู ประมาณ 15-20 % ของผลผลิตที่ได้ ทำให้ต้องทิ้ง หรือ จำหน่ายในราคาต่ำ สูญเสียรายได้มหาศาลในแต่ละปี ถึงแม้นว่า จะพยายามป้องกันด้วยการฉีดพ่นยาและสารเคมี ทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น และเกษตรกรเองก็ไม่ปลอดภัย ประกอบกับพื้นที่ปลูกทุเรียนเป็นพื้นที่สูงบนภูเขา ต้นทุเรียนอายุมากลำต้นสูงจัดการยาก ที่สำคัญสวนทุเรียนตั้งอยู่ใกล้แหล่งต้นน้ำของชุมชน ไม่สามารถที่จะใช้สารเคมีได้
ต่อมาสังเกตว่าต้นทุเรียนที่อยู่ใกล้เสาไฟฟ้าริมถนน ผลผลิตเสียหายจากหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนน้อยมาก จึงคิดว่าแสงไฟน่าจะมีผล ซึ่งแม่ของหนอนเจาะเมล็ดคือ ผีเสื้อกลางคืน ซึ่งจะบินจากพื้นดินขึ้นไปวางไข่ที่ผลทุเรียนตอนกลางคืน ดังนั้นเมื่อต้นทุเรียนอยู่ที่สว่างการวางไข่จึงน้อยกว่าสวนทั่วไปที่มืด จากข้อสันนิฐานนี้ จึงได้เริ่มนำไปทดลองติดหลอดไฟที่ต้นทุเรียนในแต่ละสวน ตั้งแต่ปี 2558 พบว่าปัญหาทุเรียนรูลดลง จึงเพิ่มพื้นที่ใช้แสงไปในสวนทุเรียนจนเต็มพื้นที่ บางแปลง 15 ไร่ บางแปลง 17 ไร่ ปัจจุบันเพื่อนเกษตรกรในหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียงและพื้นที่ตำบลอื่นๆในอำเภอบันนังสตา ได้หันมาใช้แสงไฟไล่ผีเสื้อกลางคืนเพิ่มขึ้น รวมเนื้อที่ประมาณ 500 ไร่
นายอุทัย หงส์เพชร ฯ บอกว่า ช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการเปิดไฟ ต้องเปิดเมื่อเริ่มมืดหรือหมดแสงสว่างของกลางวันไปจนถึงเริ่มมีแสงสว่างของวันใหม่ โดยประมาณ คือ 18.00 น ถึง 06.00 น นอกจากนี้ต้องคำนึงถึงระยะการเจริญเติบของทุเรียน เกษตรกรต้องเปิดไฟตั้งแต่ช่วงผลเล็ก แต่เกษตรกรในชุมชนส่วนใหญ่เริ่มเปิดไฟตั้งแต่ช่วงดอกระยะมะเขือพวง เพื่อป้องกันหนอนเจาะดอกด้วย และเปิดไปจนถึงเก็บเกี่ยวผลผลิต นอกจากนี้การใช้แสงไฟให้ได้ผลดีต้องคำนึงถึงความทั่วถึงของแสง เพราะหากมีพื้นที่ที่แสงสว่างไปไม่ถึงและบริเวณที่มีเงาจากทรงพุ่มหรือเงาจากสิ่งอื่น ๆ บังแสง จะมีผลผลิตเสียหาย สำหรับหลอดไฟที่ใช้ เกษตรกรจะใช้หลอด led แสงสีชาว หรือแสงสีเหลืองส้ม ซึ่งประสิทธิภาพในการป้องกัน ไม่แตกต่างกัน
เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนการป้องกันปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนในพื้นที่ 15 ไร่ โดยวิธีใช้แสงไฟค่าใช้จ่ายประมาณ 12,000 บาทต่อปี แต่หากใช้การฉีดพ่นสารเคมี ประมาณ 125,000 บาท/ปี “การใช้แสงไฟนอกจากเกษตรกรและผู้บริโภคจะปลอดภัยจากสารเคมีแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นคือ แสงไฟทำให้ผิวเปลือกทุเรียนเป็นสีเหลืองทอง ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคโดยเฉพาะชาวจีน ในอนาคตหากส่งออก ก็คาดว่าจะเป็นที่ต้องการของตลาด สำหรับในประเทศนั้น ปี 2565 ได้ทดลองนำผลผลิตไปจำหน่ายในเทศกาลผลไม้ภาคใต้ ที่ห้างเซ็นทรัลเฟสติวัล อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ใช้แบรนด์ “ทุเรียนใต้แสงไฟ” ได้รับการตอบรับที่ดี ปีนี้จึงมีแผนจะจำหน่ายผู้บริโภคโดยตรง และจำหน่ายผ่านเครือข่ายตลาดออนไลน์ด้วย
นายบุญรวย ภูมิแก้ว บอกว่า สำหรับ ที่ผ่านมา หลังจากได้ติดหลอดไฟที่ต้นทุเรียน ผลผลิตดีมาก ลูกสวยขึ้น การผสมเกสรดีขึ้น เห็นผลชัดจากก่อนติดตั้งกับหลังติดตั้ง คุ้มมากกับการลงทุนดีกว่าปล่อยให้ทุเรียนเป็นรูเสียหาย ส่วนการติดตั้งไม่ยาก ต้องหาข้อมูลให้ดี ให้ไฟสว่างเพียงพอ และจะต้องมีเซฟตี้ มีกันดูด กันช็อต ป้องกันอันตราย รวมทั้ง จะต้องใช้ทามเมอร์สวิตซ์แสงมาเป็นตัวปิดเปิดไฟ จะได้ตรงเวลา
เกษตรอำเภอบันนังสตา บอกว่า ในพื้นที่แปลงใหญ่ทุเรียน กม. 26 ใน บ้านตาเนาะปูเต๊ะ ซึ่งสมาชิกได้ ใช้แสงไฟป้องกันหนอน ได้ผล และจากการประชาสัมพันธ์ อย่างต่อเนื่อง ทั้งการ ลดต้นทุน ที่สำคัญเกษตรกรปลอดภัย ตอนนี้ ก็ได้ขยายผลไปหลายหมู่บ้านจากเริ่มแรก ม.2 ม.7 ม.6 ต่างตำบล ที่ บ้านถ้ำทะลุก็ได้นำการติดไฟป้องกันหนอนเจาะไปใช้แล้ว เริ่มใช้แพร่หลายขึ้น
สำหรับแนวทางการส่งเสริม ที่จะเน้นก็จะเป็นความทั่วถึงของแสง จุดที่อับของแสงยังพบความเสียหายของผลทุเรียน ช่วงเวลาการเปิดไฟตั้งแต่หมดแสงของวันนี้จนถึงมีแสงของพรุ่งนี้ และช่วงเวลาของดอกทุเรียน ตั้งแต่ระยะมะเขือพวงไปจนเก็บเกี่ยวเพื่อให้ได้ผลเต็มที่
ในขณะที่ ทางด้านสำนักงานเกษตรจังหวัดยะลาเอง ได้ขยายผลการใช้นวัตกรรมแสงไฟไล่ผีเสื้อกลางคืน สนับสนุนให้เกษตรกรจัดทำแปลงต้นแบบ ใน 8 อำเภอ ของจังหวัดยะลา นอกจากนี้ ก็ยังมีประชาสัมพันธ์ขยายผลการใช้แสงไฟไปยังผู้ปลูกทุเรียนในจังหวัดอื่น ๆ ได้นำไปใช้เพิ่มขึ้นในอนาคตด้วย
#สำนักข่าว #กรมประชาสัมพันธ์ #NNT #ILOVETHAILAND
ข้อมูลข่าวและที่มา
ผู้สื่อข่าว : รุ่งสุรีย์ กิตติกุลสวัสดิ์
ผู้เรียบเรียง : กนกพร ประสงค์
แหล่งที่มา : สทท.ยะลา