รายงานพิเศษ : การแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งและฟื้นฟูป่าชายเลนภาคตะวันออก

รายงานพิเศษ : การแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งและฟื้นฟูป่าชายเลนภาคตะวันออก
ภาคตะวันออกของประเทศไทย ประสบความสำเร็จแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งและเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนบริเวณบ้านเกาะแมว อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี ได้เกือบ 200 ไร่ โดย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ใช้แนวทางการการปักไม้ไผ่ชะลอความรุนแรงของคลื่นจนเกิดตะกอนดินสะสมสูงขึ้น
ประเทศไทย ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งมาตั้งแต่อดีต ส่งผลให้ชายฝั่งถูกกัดเซาะไปแล้วประมาณ 823 กิโลเมตร ฟื้นฟูแล้วกว่า 753 กิโลเมตร และยังไม่ได้แก้ปัญหาอีกกว่า 69 กิโลเมตร จึงคงเหลือพื้นที่ชายฝั่งที่ไม่เกิดการกัดเซาะประมาณ 2,328 กิโลเมตร ส่วนใหญ่เกิดจากการกระทำของมนุษย์เข้าใช้ประโยชน์จากการกิจกรรมต่างๆ เช่น ด้านการประมง ด้านการท่องเที่ยวและนันทนาการ ด้านอุตสาหกรรม ซึ่งกิจกรรมการใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่งมีแนวโน้มการใช้เพิ่มขึ้นผลจากการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ชายฝั่งและการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ หากมองแล้วอาจส่งผลดีด้านเศรษฐกิจ แต่กลับกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรชายฝั่งเสื่อมโทรม
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ร่วมกันทำโครงการวิจัยการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศชายฝั่งทะเล (หาดโคลน) ภายหลังการปักไม้ไผ่ชะลอความรุนแรงของคลื่นในจังหวัดจันทบุรี อย่างบ้านเกาะแมว ตำบลปากน้ำแหลมสิงห์ อำเภอแหลมสิงห์ ภาพรวมประสบความสำเร็จอย่างดีในการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของป่าชายเลนแห่งนี้ พบตะกอนดินเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดิมถูกกัดเซาะถึงถนน ด้วยการปักไม้ไผ่ 35,000 ลำ ต่อ 1 กิโลเมตร รวมทั้งหมด 3 กิโลเมตร ส่งผลให้ป่าชายเลนแนวนี้ไม่เกิดการกัดเซาะและไม่ต้องแก้ปัญหาพื้นที่กัดเซาะอีกแล้ว นายปรานต์ ดิลกคุณากุล ผู้อำนวยการกองอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เล่าว่า ป่าชายเลนจะค่อยๆฟื้นฟูและเติบโตเองตามธรรมชาติ แม้ไม้ไผ่ชะลอคลื่นจะหมดอายุลงประมาณ 3 - 5 ปี ไม่จำเป็นต้องปักเพิ่มอีกแต่ปักเพียงครั้งเดียวเพียงพอแล้ว ปัจจุบันได้ผืนป่ากลับมาประมาณ 190 ไร่ บวกกับป่าเดิมที่มีอยู่อีก 20 ไร่ จากนี้ ทช.จะศึกษาและพัฒนาแนวทางการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งต่อเนื่องเพื่อให้การแก้ปัญหาไม่กระทบต่อระบบนิเวศ คำนึงถึงความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด หลังพบการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่นได้รับการมีส่วนร่วมและความพึงพอใจจากประชาชนในพื้นที่มากขึ้น เพราะเห็นผลสำเร็จจากการเกิดพันธุ์ไม้ป่าชายเลนมากขึ้นอยู่หลังแนวปักไม้ไผ่ชะลอคลื่น โดยเฉพาะเกิดกล้าไม้และลูกไม้มีความหนาแน่นสูงหลังแนวไม้ไผ่ในระยะ 0 - 20 เมตร เปรียบเสมือนรั้วธรรมชาติที่ช่วยลดความรุนแรงของคลื่นและช่วยการสะสมของตะกอนดิน โดยตะกอนดินทรายสะสมและเพิ่มขึ้นอย่างเด่นชัดในพื้นที่ปักแนวไม้ไผ่ชะลอคลื่น
ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งถือเป็นภัยคุกคามที่กระทบต่อความสมบูรณ์ของระบบนิเวศชายฝั่ง จำเป็นต้องสร้างความร่วมมือผ่านการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ พร้อมส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับประชาชนและชุมชนชายฝั่งอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งให้สมบูรณ์มากขึ้น โดยใช้กลไกการขับเคลื่อนภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 ซึ่งการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่นช่วยแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่เห็นผลสำเร็จตามมาได้จริงที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบันใน 56 พื้นที่ รวม 13 จังหวัด ระยะทางไม้ไผ่รวม 112,655 เมตร
ข้อมูลข่าวและที่มา
ผู้สื่อข่าว : ปิยาพรรณ ยังเทียน / สวท.
ผู้เรียบเรียง : กัลยา คงยั่งยืน / สวท.
แหล่งที่มา : สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย