จังหวัดแพร่จัดงาน“น้อมรำลึกเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์”

จังหวัดแพร่ จัดงาน “น้อมรำลึกเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์” เจ้าหลวงองค์สุดท้ายของเมืองแพร่ 5 เมษายน 2566 นี้ ณ คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ ช่วงเช้าพิธีบวงสรวง ทำบุญคุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ ช่วงบ่ายชมขบวนแห่เครื่องสักการะ ฟ้อนไหว้สา การแสดง Mini แสง สี เสียง “บอกเล่าเรื่องราวเจ้าหลวงเมืองแพร่” อย่างยิ่งใหญ่
นายชุติเดช มีจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เปิดเผยว่า จังหวัดแพร่ ร่วมกับสภาวัฒนธรรมจังหวัดแพร่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ จัดงาน “น้อมรำลึกเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์” ในวันพุธที่ 5 เมษายน 2566 ซึ่งตรงกับวันที่เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ ได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าหลวงเมืองแพร่ เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2432 ณ พิพิธภัณฑ์คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่
โดย เวลา 09.00 น. พิธีบวงสรวงเจ้าหลวงเมืองแพร่ การฟ้อนบวงสรวงเจ้าหลวงเมืองแพร่
เวลา 10.00 น. พิธีทำบุญคุ้มเจ้าหลวง การสวดเจริญพระพุทธมนต์ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
เวลา 13.30 น. พิธีสวดทักษิณานุปทาน โดยพระสงฆ์จากอำเภอเมืองแพร่จำนวน 76 รูป
เวลา 16.00 น. ชมขบวนแห่เครื่องสักการะ จาก 8 อำเภอ จากโรงเรียนนารีรัตน์ มายังคุ้มเจ้าหลวง
จากนั้น มีการแสดงฟ้อนไหว้สาเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ จากกลุ่มสตรี 500 คน บริเวณภายในคุ้มเจ้าหลวงและบริเวณถนนตั้งแต่วงเวียนน้ำพุถึงหน้าศาลหลักเมืองแพร่ ปิดท้ายด้วยการแสดง Mini แสง สี เสียง “บอกเล่าเรื่องราวเจ้าหลวงเมืองแพร่” เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ อย่างยิ่งใหญ่
ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กล่าวว่า วันพุธที่ 5 เมษายน 2566 นี้ ขอเชิญชวนลูกหลานคนแพร่ ประชาชนชาวแพร่ และนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ร่วมงาน“น้อมรำลึกเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์” เจ้าหลวงองค์สุดท้ายของเมืองแพร่ เพื่อระลึกถึงกรณียกิจของเจ้านายเมืองแพร่ที่ทำคุณประโยชน์ อาทิ
1. ด้านการปกครอง ให้ความร่วมมือสนับสนุนรัฐบาลส่วนกลางในการแก้ไขปฏิรูปการปกครองจากระบบหัวเมืองประเทศราชมาเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล ซึ่งนำมาใช้ในเมืองแพร่เมื่อปี พ.ศ. 2439
2. ด้านการศึกษา เจ้าพิริยเทพวงศ์ ส่งเสริมการศึกษาตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อสนองพระบรมราโชบาย การจัดตั้งโรงเรียนหนังสือไทยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามโรงเรียนนี้ว่า "โรงเรียนเทพวงศ์" ต่อมาได้รับการยกฐานะเป็นโรงเรียนสอนหนังสือไทย ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า "โรงเรียนพิริยาลัย" เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่เจ้าพิริยเทพวงศ์ ปัจจุบันคือ โรงเรียนพิริยาลัยจังหวัดแพร่ (ปัจจุบันอาคารไม้สักและที่ดินเดิมเป็นสถานที่ตั้งโรงเรียนนารีรัตน์จังหวัดแพร่)
3. ด้านสาธารณะประโยชน์ เจ้าพิริยเทพวงษ์ได้ซ่อมถนนพร้อมทำสะพานข้ามห้วยและลำเหมือง จำนวน 24 แห่ง ทำด้วยไม้สักทุกๆสะพานเป็นถาวรแน่นหนามั่นคง
4. ด้านพระพุทธศาสนา เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ ได้บูรณะซ่อมแซมวัดวาอาราม เช่น วัดหลวง วัดพระนอน วัดสวรรคนิเวศน์ วัดมิ่งเมือง (ปัจจุบันคือวัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร) วัดพระธาตุช่อแฮ และเป็นผู้ขอพระราชทานวิสุงคามสีมาให้กับวัดศรีชุม
#สำนักข่าว #กรมประชาสัมพันธ์ #NNT #ILOVETHAILAND
ข้อมูลข่าวและที่มา
ผู้สื่อข่าว : โชคชัชกาญ ราชฟู
ผู้เรียบเรียง : กนกพร ประสงค์
แหล่งที่มา : สวท.แพร่