"วราวุธ" กำชับคุ้มเข้มมาตรการรับมือฝุ่น PM 2.5 ใน กทม.และปริมณฑล ขณะที่ภาคเหนือและภาคอีสานเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน ด้วยการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่และลดการเผาในที่โล่ง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำชับคุ้มเข้มมาตรการรับมือฝุ่นละออง PM 2.5 ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ขณะที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน ด้วยการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่และลดการเผาในที่โล่ง
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งดำเนินการมาตรการป้องกันและแก้ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ทั้งการยกระดับการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจร เช่น ชิงเก็บ- ลดเผา และการใช้แอพพลิเคชั่น Burn Check เพื่อลงทะเบียนและจองเวลาการเผาล่วงหน้าลดปริมาณฝุ่นละอองในแต่ละพื้นที่ // ลดจุดความร้อน (Hotspot) ป้องกันและควบคุมการเกิดไฟในทุกพื้นที่ หลังช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมาจุดความร้อนในประเทศไทยลดลงถึงร้อยละ 80 จนเกิดความกังวลช่วงต้นปี 2566 จากเชื้อเพลิงที่สะสมจำนวนมากในพื้นที่เขตป่า // การพัฒนาระบบพยากรณ์ความรุนแรงและอันตรายของไฟ (FDRS) เบื้องต้นตั้งเป้าลดจุดความร้อน (Hotspot) ปี 2566 ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติลงให้ได้ร้อยละ 20 ทั้งนี้ ภาพรวมฝุ่นละออง PM 2.5 ในไทย โดยเฉพาะเขตเมืองใหญ่ไม่ได้เพิ่มขึ้นหรือลดลง โดยพบมีการปลดปล่อยปริมาณฝุ่นละอองเท่ากันตั้งแต่เดือนมกราคมถึงธันวาคมในทุกปี แต่สิ่งที่ทำให้เกิดผลกระทบกับประชาชน คือ สภาพอากาศที่เป็นปัจจัยต่อการกระจายของฝุ่นละออง โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาวที่สภาพอากาศจะเกิดลมสงบนิ่ง เกิดความกดอากาศต่ำในรูปแบบฝาชีครอบ ส่งผลให้การกระจายตัวของฝุ่นทำได้ยากและสะสมมากขึ้นต่อเนื่องบริเวณที่มีการจราจรหนาแน่น จึงจำเป็นต้องจำกัดจำนวนและลดการระบายมลพิษจากแหล่งกำเนิดลงให้ได้ ซึ่งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลแหล่งกำเนิดฝุ่นมาจากยานพาหนะเป็นหลัก โดยเฉพาะรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลที่มีการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ กระบวนการผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรม และการเผาในที่โล่ง จึงต้องยกระดับและคุมเข้มมาตรการให้เข้มงวดมากขึ้น เพื่อลดมลพิษที่ระบายออกสู่ชั้นบรรยากาศ เช่น ขอให้ประชาชนนำรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลไปบำรุงรักษาและเปลี่ยนน้ำมันเครื่องอยู่เสมอ อย่างเครื่องยนต์ดีเซลที่มีอายุการใช้งานมานานหลายกว่า 10 ปี จะเกิดการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์และปล่อยมลพิษออกมาจำนวนมากกว่าปกติ
ขณะเดียวกันได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการค้าน้ำมันจัดจำหน่ายน้ำมันที่มีปริมาณกำมะถันต่ำช่วงเดือนธันวาคม 2565 - กุมภาพันธ์ 2566 ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มาจำหน่ายให้ประชาชนได้ใช้เพื่อลดการเกิดฝุ่น PM 2.5 ซึ่งการปรับลดปริมาณกำมะถันในน้ำมันดีเซลสามารถช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองและก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้ เพราะกำมะถันในน้ำมันเมื่อถูกเผาไหม้จะเกิดเป็นซัลเฟตและจับกับมลพิษอื่น ทำให้เกิดเป็นฝุ่น PM2.5 เมื่อโรงกลั่นและผู้ค้าได้ปรับลดกำมะถันในน้ำมันเบนซินและดีเซลลงกว่า 5 เท่า จะทำให้น้ำหนักของฝุ่น PM2.5 ลดลง รวมทั้ง ขอให้ผู้ประกอบการยานยนต์จัดกิจกรรมตรวจเช็กสภาพเครื่องยนต์และเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องในราคาพิเศษ และเข้มงวดกับการตรวจควันดำรถยนต์ของหน่วยงานราชการที่เข้มข้นกว่ารถทั่วไป
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวย้ำว่า ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือสาเหตุหลักของปัญหาไฟป่าและหมอกควันมาจากการเผาไหม้ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และพื้นที่เกษตร โดยเฉพาะช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์จะมีฝุ่นควันจากภาคการเกษตรเข้ามาสมทบ ทำให้ปัญหามลพิษทางอากาศในหลายพื้นที่รุนแรงขึ้น ทำให้การควบคุมปริมาณฝุ่นตามค่ามาตรฐานใหม่จำเป็นต้องคำนึงถึงปัญหาการเผาเตรียมพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจที่มีอยู่ประมาณ 76 ล้านไร่ // การพัฒนานวัตกรรมการจัดการเศษวัสดุทางการเกษตรทดแทนการเผา เพิ่มมูลค่าด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ // การทำเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รณรงค์การทำเกษตรทางเลือกแบบปลอดการเผา พร้อมนำเครื่องจักรกลทางการเกษตรมาช่วยในการเตรียมดินและการเก็บเกี่ยว
ข้อมูลข่าวและที่มา
ผู้สื่อข่าว : ปิยาพรรณ ยังเทียน / สวท.
ผู้เรียบเรียง : กัลยา คงยั่งยืน / สวท.
แหล่งที่มา : สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย