เรื่องควรรู้ ปลดล็อกกัญชา-กัญชง พ้นยาเสพติด 9 มิถุนายนนี้

ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2565 จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป จะมีผลให้ควบคุมเฉพาะสารสกัดจากพืชกัญชา กัญชง ที่มีสาร THC (เป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท) เกิน 0.2% ที่ยังเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (ยาเสพติดให้โทษที่มิได้อยู่ในประเภทที่ 1 ถึงประเภทที่ 4 เช่น กัญชา พืชกระท่อม เห็ดขี้ควาย เป็นต้น)? ส่วนอื่นของกัญชา กัญชง จะถูกกฎหมายและพ้นจากการเป็นยาเสพติด อย่างไรก็ตาม เมื่อมีประกาศปลดล็อกนี้ก็มักจะมีคำถามตามมา อย่างปลูกได้กี่ต้น? ใช้ประโยชน์อย่างไร? สูบได้หรือไม่? มาหาคำตอบเหล่านี้กัน
ที่มาประกาศปลดล็อกกัญชา-กัญชง พ้นยาเสพติด
หลังกระทรวงสาธารณสุข ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ทำการปลดล็อกให้พืชกัญชาและพืชกัญชง พ้นจากความเป็นยาเสพติด เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ในการรักษาตั้งแต่ระดับครัวเรือน พร้อมกับสนับสนุนให้กัญชา-กัญชง เป็นพืชเศรษฐกิจ แต่ยังคงมีการควบคุมการผลิตสารสกัดที่มีคุณภาพมาตรฐานและมีมาตรการป้องกันการนำไปใช้ในทางที่ผิด ต่อมาองค์การอาหารและยา (อย.) ได้จัดทำประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 ซึ่งจะปลดล็อกทุกส่วนกัญชา-กัญชง ออกจากความเป็นยาเสพติดอย่างสิ้นเชิง ยกเว้นสารสกัดของกัญชาที่มีค่า THC เกิน 0.2% จะยังถือว่าเป็นสารเสพติด จะมีการควบคุม ทำได้เฉพาะที่ได้รับอนุญาต หลังจากนั้นประกาศนี้ถูกลงนามโดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล และถูกประกาศลงในราชกิจจานุเษกษาเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ให้มีผลบังคับใช้จากนั้น 120 วัน ซึ่งก็คือวันที่ 9 มิถุนายน 2565
สิ่งที่ทำได้หลังประกาศปลดล็อกมีผลบังคับใช้
ประชาชนสามารถปลูกกัญชา-กัญชง ภายในบริเวณบ้านเรือน เพื่อประโยชน์ในการรักษาและดูแลสุขภาพได้ จะปลูกกี่ต้นก็ได้ โดยไม่ต้องขออนุญาต เพียงแต่จดแจ้งผ่านทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชันของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ที่ชื่อว่า “ปลูกกัญ”
ปลูกในเชิงพาณิชย์ หรือปลูกเพื่อขายได้ แต่ต้องขออนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุขก่อนปลูก ผ่านทางเว็บไซต์และแอปฯ “ปลูกกัญ”
การนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชา กัญชง ส่วนอื่นๆ ของพืช เช่น ช่อดอก ใบ กิ่ง ก้าน ไม่ต้องขออนุญาตนำเข้าตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด แต่ต้องขออนุญาตนำเข้าตาม พ.ร.บ.พันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และ พ.ร.บ.กักพืช พ.ศ. 2507 และหากเป็นสารสกัดที่นำเข้าจากต่างประเทศ จัดเป็นยาเสพติดให้โทษ ต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด
การนำส่วนต่างๆ ของกัญชาไปใช้ทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ สามารถทำได้ แต่ต้องขออนุญาตตามกฎหมายและดำเนินการตามคุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์นั้นๆ เช่น อาหารต้องทำตาม พ.ร.บ.อาหาร ยาต้องทำตาม พ.ร.บ.ยา และเครื่องสำอางต้องทำตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง ถึงจะเป็นผลิตภัณฑ์กัญชา- กัญชงที่ถูกกฎหมาย
การสูบกัญชา-กัญชง เพื่อผ่อนคลายเป็นการส่งเสริมสุขภาพจิต สามารถทำได้ แต่ต้องสูบในบ้านเรือนของตัวเองย่างมิดชิด ไม่สร้างความรำคาญแก่ผู้อื่น อย่างไรก็ตามประเด็นนี้ทางกระทรวงสาธารณสุข ไม่เคยรณรงค์ หรือแนะนำให้มีการสูบกัญชาเพื่อผ่อนคลายใดๆ เพราะการนำกัญชามาสูบไม่เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่กลับเป็นโทษด้วย
สิ่งที่ทำไม่ได้ หรือไม่ควรทำ หลังประกาศปลดล็อกกัญชามีผลบังคับใช้
ไม่สามารถใช้สารสกัดจากพืชกัญชา กัญชงที่มีสาร THC เกิน 0.2% เพราะยังเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 อยู่
ไม่สามารถสูบกัญชาแบบม้วนได้ เพราะไม่มีอากรแสตมป์ของกรมสรรพสามิตติดไว้อย่างถูกต้องเหมือนบุหรี่ ว่าง่ายๆ คือไม่สามารถนำเอากัญชาไปมวนแล้วบรรจุซองแบบบุหรี่ได้ เพราะกรมสรรพสามิตยังไม่อนุญาต จึงไม่มีการจำหน่ายกัญชาแบบมวนและทำให้ไม่สามารถสูบกัญชาแบบมวนได้ย่างถูกต้องตามไปด้วย
สูบกัญชาในที่สาธารณะไม่ได้ เนื่องจากกลิ่นและควันจะสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่น นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย ยังจะออกประกาศกำหนดให้กลิ่นและควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใดในทำนองเดียวกันเป็นเหตุรำคาญ มาใช้ควบคุมการสูบกัญชาด้วย ดังนั้นการสูบกัญชา -กัญชง ในที่สาธารณะจะขัดต่อประกาศนี้ จึงเป็นสิ่งไม่ควรทำอย่างยิ่ง
ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ พ.ศ. ... ในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่น สามารถเข้าควบคุมเหตุรำคาญ ด้วยการอาศัยอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 โดยให้ออกคำสั่งทางการปกครองแจ้งเตือนผู้สูบกัญชา-กัญชง ที่สร้างความรำคาญแก่ผู้อื่น แต่หากผู้ได้รับการแจ้งเตือนไม่แก้ไข หรือยังสูบกัญชา-กัญชง สร้างความรำคาญแก่ผู้อื่นอยู่อีก ก็ให้เจ้าหน้าที่ส่วนทัองถิ่นส่งเรื่องต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการ โดยอัตราโทษกรณีไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นดังกล่าวข้างต้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 25,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ร่างประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในเร็วๆ นี้
เตรียมตั้งกรรมการควบคุมการใช้กัญชา-กัญชง รอกฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้
ขณะที่การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องการปฏิบัติตัวของประชาชนและการบังคับใช้กฎหมาย หลังกัญชา-กัญชง ถูกปลดออกจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 มีผลตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายนนี้เป็นต้นไป โดยเฉพาะการปลูก เสพ สูบ สามารถทำได้โดยถูกกฎหมาย แต่ไม่ใช่ทำได้เสรี 100% เพราะพิษภัยของกัญชายังคงมีอยู่และพฤติกรรมในบางเรื่องที่รัฐจำเป็นต้องควบคุม อาทิ การสูบต้องไม่ก่อให้เกิดความรำคาญกับผู้อื่น สูบแล้วขับรถอาจจะผิดกฎหมาย เหมือนดื่มแล้วขับ การใช้ช่อดอกมีสารเสพติดต้องระมัดระวังให้เป็นไปตามกฎหมาย ห้ามจำหน่ายแก่เด็ก การผลิตเพื่อจำหน่ายต้องเสียภาษี เป็นต้น โดยระหว่างรอกฎหมายใหม่ควบคุมกัญชา-กัญชง มีผลบังคับใช้ รัฐบาลจะตั้งคณะกรรมการบูรณาการพืชกัญชา-กัญชง ที่มีฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นกรรมการ เช่น ตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นักวิชาการ และภาคประชาชน เพื่อกำกับดูแลในช่วงรอยตอนนี้ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
ร่างกฎหมายใหม่ 2 ฉบับ ควบคุมกัญชา -? กัญชง เข้าสภาฯ วันนี้ 8 มิถุนายน 2565
สำหรับกฎหมายใหม่ที่จะมาควบคุมการใช้ การบริโภค การจำหน่าย กัญชา-กัญชง หมายถึง ร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. ....มีอยู่ 2 ฉบับคือ ร่างของพรรคภูมิใจไทยและร่างของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงินที่นายกรัฐมนตรีรับรองก่อนเสนอไปยังสภาผู้แทนราษฎรแล้ว โดยทั้ง 2 ร่าง จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ในวันที่ 8 มิถุนายนนี้ จากนั้นทางสภาฯ จะมีการพิจารณาไปอีกระยะหนึ่ง ก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ต่อไป
ผลพวงอื่นจากการปลดล็อกกัญชา-กัญชง
นอกจากสิ่งที่ทำได้และทำไม่ได้ รวมทั้งเรื่องกฎหมายใหม่ที่จะออกมาควบคุมต่อไปแล้ว ยังมีผลพวงอื่นจะเกิดตามมาจากการปลดล็อกกัญชา-กัญชง ในครั้งนี้ด้วย โดยเฉพาะเรื่องของคดีความเกี่ยวกับกัญชา ตามที่โฆษกศาลยุติธรรม ได้ชี้แจงไว้ว่า เมื่อประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายนนี้ จะส่งผลทำให้กัญชา-กัญชง พ้นจากการเป็นยาเสพติดและยังจะส่งผลให้คดีเกี่ยวกับกัญชาที่ถึงที่สุดเเล้วเเต่ตัวจำเลยอยู่ระหว่างกักขังเเทนค่าปรับ คดีก็จะถูกยกเลิกเเละจะปล่อยตัวผู้ต้องขัง เพราะเมื่อกัญชา-กัญชง ไม่ใช่ยาเสพติดแล้วก็มีผลย้อนหลังให้คดีเกี่ยวกับกัญชาไม่ใช่คดียาเสพติดตามไปด้วย ซึ่งจะมีผลต่อกรณีที่ตัดสินจำคุกไปแล้วเช่นกัน โดยทางศาลจะดำเนินการตรวจสอบเเละออกหมายปล่อยหากไม่มีคดีอื่นเกี่ยวข้อง ส่วนคดีที่รอนัดฟังคำพิพากษาที่จำเลยได้อยู่ระหว่างได้รับการประกันตัว ก็จะยกฟ้อง เเต่ศาลจะยังกำหนดนัดมาฟังคำพิพากษาตามเดิม เพราะถือว่าตัวอยู่ข้างนอกเรือนจำ โดยทั้งหมดจะเริ่มดำเนินการได้ในวันที่ 9 มิถุนายน 2565 วันเดียวกับประกาศปลดล็อกกัญชา-กัญชง พ้นยาเสพติด เริ่มมีผลบังคับใช้ แยกเป็นผู้ต้องหาคดีกัญชา 4,227 รายจะถูกปล่อยตัว คดีความระหว่างการพิจารณา 7,488 คดี จะถูกจำหน่ายออกจากศาล ส่วนคดีอื่นๆ เกี่ยวกับกัญชาจะไม่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาล ของกลาง เงิน 110 ล้านบาท กัญชาน้ำหนักกว่า 16,030 กิโลกรัม ต้องส่งคืนเจ้าของ (เผาทำลายไม่ได้) และเมื่อส่งคืน เจ้าของอาจนำไปขายออกสู่ตลาด อาจเกิดผลกระทบในทางใดทางหนึ่งตามมาได้
อย่างไรก็ตาม การยกฟ้อง ยกเลิกคดี ปล่อยตัวผู้ต้องหา รวมถึงคืนของกลาง เป็นเพียงผลพวงหนึ่งจากการปลดล็อกกัญชา-กัญชง ให้พ้นจากการเป็นยาเสพติด แต่จุดยืนหลักของกระทรวงสาธารณสุขในการปลดล็อกกัญชาครั้งนี้คือ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ให้เกิดเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ทั้งในกลุ่มเครื่องสำอาง สมุนไพรและอาหาร รวมถึงส่งเสริมงานวิจัยนวัตกรรม และเพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการดูแลสุขภาพของตนเอง
ข้อมูลข่าวและที่มา
ผู้สื่อข่าว : ธนพิชฌน์ แก้วกา
ผู้เรียบเรียง : ธนพิชฌน์ แก้วกา
แหล่งที่มา : หน่วยงานสำนักข่าว