รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนประสบความสำเร็จในการปลดหนี้อย่างยั่งยืน "ปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน"

หนี้รถ หนี้บ้าน หนี้บัตรเครดิต หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล เหล่านี้คือ ลักษณะของหนี้ครัวเรือนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยให้นิยามไว้ว่า “เงินให้กู้ยืม ที่สถาบันการเงินให้แก่บุคคลธรรมดาใน ประเทศ ซึ่งสามารถนำไปใช้เพื่อการจับจ่ายใช้สอยต่างๆ” โดยเป็นหนี้ที่ผู้กู้ต้องเป็นผู้ชำระแก่สถาบันการเงินนั้นๆ เอง
ขณะที่หนี้สาธารณะ หมายถึง การกู้ยืมเงินของรัฐบาล เมื่อรัฐบาลมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายจึงจำเป็นต้องกู้เงินมาใช้เพื่อพัฒนาประเทศด้านต่างๆ กระตุ้นให้ประชาชนขยายการลงทุน เมื่อคนมีงานทํา มีรายได้สูงขึ้น รัฐบาลก็สามารถเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นเพื่อนำมาชําระหนี้คืน โดยเมื่อถึงกําหนด รัฐบาลก็ต้องตั้งเป็นงบประมาณรายจ่ายเพื่อชําระหนี้นั้น ดังนั้น ข้อกล่าวหาที่ว่า “หนี้ครัวเรือนพุ่งสูง เป็นผลจากการกู้เงินของรัฐบาล แม้ออกมาตรการแจกเงิน ประชาชนก็ยังต้องรับภาระหนี้อยู่ดี” จึงเป็นข้อมูลที่ “บิดเบือนความจริง” เพราะหนี้ 2 ส่วนนี้มีความแตกต่างกัน
อย่างไรก็ตาม การรายงานสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทย ล่าสุดในไตรมาส 3 ของปี 2564
อยู่ที่ระดับ 14.35 ล้านล้านบาท หรือ89.3% ต่อ GDP และประเมินว่าในปี 2565 นี้ อาจสูงขึ้นถึง 91% ต่อ GDP ถือว่าเป็นตัวเลขที่ยังน่าเป็นห่วง โดยมีสาเหตุสำคัญจากสถานการณ์โควิด-19
ที่เร่งให้หนี้ครัวเรือนขยายตัวขึ้น ไม่ว่าจะเป็น มาตรการเลื่อน พักชำระหนี้ หรือปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินต่างๆ ที่ช่วยเหลือลูกหนี้ในสถานการณ์โควิด มีส่วนทำให้ระดับหนี้ครัวเรือนในภาพรวมปรับลดลงช้ากว่าปกติ วิกฤติโควิดส่งผลทำให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนขาดรายได้ จึงเกิดการกู้ยืมเพื่อนำมาใช้จ่ายทดแทนสภาพคล่องที่หายไป ครัวเรือนบางส่วนที่มีกำลังซื้อ ยังมีการซื้อที่อยู่อาศัยในช่วงที่ผู้ประกอบการ อสังหาริมทรัพย์ออกโปรโมชันจูงใจ ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนในส่วนนี้เติบโตได้ดีในช่วงวิกฤต สอดคล้องกับข้อมูลที่นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ได้อธิบายว่า เมื่อพิจารณาจากไส้ในของหนี้ครัวเรือนจะพบว่า หนี้ครัวเรือนของไทยมีความต่างจากหนี้ครัวเรือนจากประเทศอื่น หนี้ครัวเรือนที่เกิดขึ้นนั้น เป็นหนี้ที่ทำให้เกิดความมั่งคั่ง โดยนำไปซื้อสินทรัพย์และประกอบอาชีพเพื่อ
หารายได้ กรณีนำไปซื้อสินทรัพย์มีสัดส่วน 34.5% นำไปซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ซึ่งประเมินว่าซื้อเพื่อนำไปประกอบอาชีพ คิดเป็นสัดส่วน 12.4% นำไปประกอบอาชีพ 20% ฉะนั้น คิดรวมๆ แล้ว หนี้ครัวเรือนที่เกิดขึ้นนำไปประกอบอาชีพมากกว่า 65%
แม้หนี้ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ทำให้เกิดความมั่งคั่ง แต่สถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่ขยายตัวขึ้นนั้น
รัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดให้ปี 2565
เป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน ให้การแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชนเป็นพันธกิจหลักและเร่งดำเนินการในประเด็นต่างๆ ให้แล้วเสร็จโดยไว ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือกยศ. เช่น การปรับปรุงรูปแบบการจ่ายชำระคืน ปรับลดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ กำหนดให้การไกล่เกลี่ยและการปรับโครงสร้างหนี้เป็นวาระของประเทศ เพื่อช่วยให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจสามารถปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ได้โดยไม่มีข้อกังวลเกี่ยวกับการถูกลงโทษตามกฎหมาย แก้ไขปัญหาหนี้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ให้มีการกำกับดูแลที่เหมาะสม การแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและตำรวจ เช่น การยุบยอดหนี้ การปรับดอกเบี้ยเงินกู้ การยกระดับระบบการตัดเงินเดือนของข้าราชการให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมมากขึ้น
การทบทวนโครงสร้างเพดานอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม โดยกระทรวงการคลังได้ปรับลดเพดานเงินกู้สินเชื่อ PICO Finance ลงจาก 36% เหลือ 33% สำหรับลูกหนี้ที่วางหลักประกัน
หรือการออกมาตรการเพื่อสนับสนุนการรีไฟแนนซ์และการรวมหนี้ สามารถนำหลักประกันของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่มีอยู่มาช่วยลดดอกเบี้ยและค่างวดในระยะยาวได้ การแก้ไขปัญหาหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล จัดตั้งโครงการคลินิกแก้หนี้ สนับสนุนให้ปรับเปลี่ยนหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน ให้เป็นสินเชื่อระยะยาวที่มีดอกเบี้ยต่ำลง การแก้ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประ
ชาชนรายย่อยและSMEs ผ่านโครงการ soft loan และสินเชื่อฟื้นฟูของ ธปท. การปรับปรุงขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรม มีการจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางธุรกิจและการเงิน (TBMC)
เพื่อลดคดีที่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาล
นอกจากนี้ กระทรวงยุติธรรมยังได้จัดงาน มหกรรมไกล่เกลี่ยแก้หนี้สินครัวเรือน ครั้งที่ 1
โดยจัดให้ลูกหนี้ ได้พบปะ หารือ รับคำปรึกษา เจรจากับสถาบันการเงินหรือเจ้าหนี้ โดยเริ่มต้นที่กรุงเทพฯ 25-26 กุมภาพันธ์นี้ ก่อนจะเดินสายในจังหวัดอื่นๆ ต่อไป
เหล่านี้คือมาตรการรูปธรรมในการสร้างความเป็นธรรม เพิ่มขีดความสามารถในชำระหนี้ที่รัฐบาลได้พยายามผลักดันเพื่อแก้หนี้สินภาคครัวเรือนให้เกิดผลและให้ประชาชนประสบความสำเร็จในการปลดหนี้อย่างยั่งยืน
ข้อมูลข่าวและที่มา
ผู้สื่อข่าว : ธนพิชฌน์ แก้วกา
ผู้เรียบเรียง : ธนพิชฌน์ แก้วกา
แหล่งที่มา : หน่วยงานสำนักข่าว