หอการค้าไทย เผยหนี้ครัวเรือนแรงงานไทยปี 2564 เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.56 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ รายได้ลด รายจ่ายเพิ่ม

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจสถานภาพแรงงานไทย : กรณีศึกษาผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท จากกลุ่มตัวอย่าง 1,256 ตัวอย่างทั่วประเทศ ในกลุ่มอาชีพส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ พนังงานเอกชน รับจ้าง/รับจ้างรายวัน พบว่า ครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ย 10,000-15,000 บาท มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 6.9 จะมีรายจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 11.0 เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีรายจ่ายร้อยละ 6.8 ขณะที่การเก็บออมของแรงงานในปัจจุบันพบว่าร้อยละ 67.6 ไม่มีเงินออม อย่างไรก็ดีเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนมีการระบาดของโรคโควิด-19 จะพบว่ารายได้ ชั่วโมงการทำงานและการเก็บออมลดลง ขณะที่รายจ่ายเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ยังพบว่า สถานภาพหนี้ของแรงงานไทย ปี 2564 หนี้สินของครัวเรือนเพิ่มขึ้นจากปี 2562 มาอยู่ที่ร้อยละ 98.1 โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้จากการกู้ยืมเพื่อนำมาใช้จ่ายประจำวัน เพื่อการศึกษาและใช้หนี้บัตรเครดิต ซึ่งมีสัดส่วนเป็นหนี้ในระบบมากถึงร้อยละ 71.6 และร้อยละ 28.4 เป็นหนี้นอกระบบ ทำให้มีปัญหาการผิดนัดผ่อนชำระหนี้สูงถึงร้อยละ 85.1 เนื่องจากขาดสภาพทางการเงิน รายจ่ายเพิ่ม เงินไม่พอจ่าย/รายได้ไม่พอ การแพร่ระบาดของโรคโควิด ตกงานและเศรษฐกิจไม่ดี ทำให้ภาระหนี้ครัวเรือนของแรงงานไทย ปี 2564 เฉลี่ยนอยู่ที่ครัวเรือนละ 205,809 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.56 ขยายตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์
สำหรับการใช้จ่ายในช่วงวันแรงงานปีนี้ ร้อยละ 66.3 มองว่าจะคึกคักน้อยกว่าปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะมีการใช้จ่ายรวมอยู่ที่ 1,793 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 19.7 ต่ำสุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2555 นอกจากนี้แรงงานยังมองว่าเงินเก็บที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะสามารถนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตได้ไม่เกิน 3 เดือน ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลเข้ามาดูแลแรงงาน เรื่องการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ การดูแลเงินช่วยเหลือแรงงาน ดูแลเรื่องว่างงาน ดูแลหนี้ของแรงงานและการดูแลค่าครองชีพเป็นต้น
ข้อมูลข่าวและที่มา
ผู้สื่อข่าว : สุภาภรณ์ สุขันทอง
ผู้เรียบเรียง : ธนพิชฌน์ แก้วกา
แหล่งที่มา : สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย