รายงานพิเศษ : “การพัฒนาระบบพยากรณ์ล่วงหน้าผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดจากฝุ่น PM 2.5 ในเขต กทม.” หน่วยงานภาครัฐ ร่วมกันพัฒนาระบบพยากรณ์ล่วงหน้าผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดจากฝุ่น PM 2.5 ในเขตกรุงเทพมหานคร มาใช้ควบคู่กับระบบการพยากรณ์คุณภาพอากาศล่วงหน้า เพื่อลดผลกระทบมลพิษทางอากาศให้กับประชาชน คงจะปฏิเสธไม่ได้ซะทีเดียวว่าปัญหามลพิษฝุ่นละออง PM 2.5 และ PM 10 มีผลกระทบต่อการขับเคลื่อนของระบบเศรษฐกิจประเทศ หรือแม้กระทั้งระบบเศรษฐกิจโลก หลังหลายปีที่ผ่านมาเกือบทุกประเทศทั่วโลกตื่นตัวและให้ความสำคัญอย่างมากต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ "มลพิษฝุ่นละออง" ซึ่งทุกๆปีประเทศไทยจะประสบปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ตามช่วงเวลาที่แตกต่างกันที่กระทบต่อสุขภาพของประชากรในประเทศระยะยาวและกระทบระบบเศรษฐกิจ จนรัฐบาลเห็นความสำคัญการแก้ปัญหาฝุ่นอย่างจริงจัง ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปัญหามลพิษทางอากาศเป็นเรื่องสำคัญและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 มักพบเพิ่มสูงขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศ อย่างช่วงมีความกดอากาศสูง ลมสงบ อากาศนิ่ง ทำให้การกระจายตัวของฝุ่นละอองอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับ แหล่งกำเนิดมลพิษต่างๆ เช่น ยานพาหนะ การเผาในที่โล่ง โรงงานอุตสาหกรรม และการก่อสร้าง ส่งผลให้การสะสมของฝุ่นในอากาศจะมีปริมาณสูงขึ้น ซึ่ง “กรุงเทพมหานคร” เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ประสบปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นประจำทุกปีมากบ้างน้อยบ้าง ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้และกิจกรรมของมนุษย์ปัจจัยที่สามารถควบคุมได้ ขณะที่ตัวเลขประชาชนที่ป่วยจากมลพิษทางอากาศทั้งฝุ่นละอองและหมอกควันระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 19 มีนาคมที่ผ่านมา มีสูงเกือบ 2 ล้านคน โดยเฉพาะโรคทางเดินหายใจ โรคผิวหนังอักเสบ และกลุ่มโรคตา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) , กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) , คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข , กรมอนามัย , กรมควบคุมโรค และกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกันเดินหน้าโครงการพยากรณ์ล่วงหน้าผลกระทบระยะเวลาสั้นด้านสุขภาพของประชาชนจากความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ด้วยการพัฒนาระบบพยากรณ์ผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดจากฝุ่น PM2.5 ได้ล่วงหน้า เพื่อให้ประชาชนและสถานพยาบาลต่างๆได้ทราบข้อมูลล่วงหน้าก่อน การดูแลสุขภาพประชาชนและป้องกันไม่ให้ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ย้ำว่า เป็นการยกระดับระบบพยากรณ์ผลกระทบต่อสุขภาพล่วงหน้าทั้งในเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณของประเทศให้มีความสมบูรณ์ที่สุด ด้วยการนำมาใช้คาดการณ์จะมีการเจ็บป่วยของประชาชนจากฝุ่น PM 2.5 เพิ่มขึ้นหรือลดลงมากน้อยเพียงใดล่วงหน้าเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 วัน และใช้ข้อมูลผลการพยากรณ์คุณภาพอากาศล่วงหน้าสำหรับฝุ่น PM 2.5 จากระบบ AirBKK ของกรุงเทพมหานคร เพราะปัจจุบันไทยมีระบบการพยากรณ์คุณภาพอากาศล่วงหน้า แต่ยังไม่มีระบบพยากรณ์ผลกระทบต่อสุขภาพที่คาดการณ์ล่วงหน้าที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของฝุ่น PM 2.5 สำหรับแผนการเตรียมรับมือสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลทุกปี จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจกับประชาชนให้รู้ว่าฝุ่นละอองเกิดขึ้นจากอะไร เข้าใจถึงระบบการแจ้งเตือน และมาตรฐานค่าฝุ่นละอองให้มากขึ้น โดยกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) จะทำหน้าที่แจ้งเตือนให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลและเตรียมพร้อมเผชิญกับสถานการณ์ฝุ่นละอองและหมอกควันด้วยการดูแลตนเอง โดยต้องยึดการดูข้อมูลผ่านแอพพลิเคชั่น “Air4Thai” และ “AirBKK” ที่จะรายงานค่าฝุ่นละอองได้รับการตรวจวัดของ คพ.และกรุงเทพมหานครที่มีมาตรฐานระดับสากล
อ่านเพิ่มเติ่ม >