วันนี้ (28 ก.ย. 66) สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดตราด รายงานว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาลระยะที่ 1 รวมถึงการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ผู้ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าว ภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกร ระยะเวลา 3 ปี ตามที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา พักชำระหนี้เกษตรกรรายย่อย ระยะแรก เริ่ม 1 ต.ค.นี้1. มาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล วัตถุประสงค์ 1) เพื่อลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ ธ.ก.ส. ที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ซึ่งยังไม่ฟื้นตัวและกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง 2) เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนภาระดอกเบี้ยให้แก่ลูกหนี้ ธ.ก.ส. 3)เพื่อเพิ่มโอกาสนำเงินไปใช้ลงทุนปรับเปลี่ยนหรือขยายการประกอบอาชีพและฟื้นฟูศักยภาพของตนเอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ดียิ่งขึ้น โดยเกษตรกรลูกค้ารายย่อย ธ.ก.ส. จำนวน 2.698 ล้านราย (มูลหนี้ 2.83 แสนล้านบาท) ต้องเป็นลูกค้ารายย่อยที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้คงเหลือทุกสัญญารวมกัน ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 ไม่เกิน 300,000 บาท และมีสถานะเป็นหนี้ปกติและ/หรือเป็นหนี้ค้างชำระ (หนี้ 0 - 3 เดือน และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loans : NPLs)) ได้รับสิทธิ์ในการพักชำระหนี้ระยะแรก ดำเนินการ 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.66 ถึงวันที่ 30 ก.ย.67 โดยเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ต้องการรับสิทธิสามารถแสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าวได้ตามความสมัครใจ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.66 ถึงวันที่ 31 ม.ค.67 รัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณมาชดเชยภาระดอกเบี้ยเงินกู้แทนเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่เข้าร่วมมาตรการในอัตรา 4.50 % ต่อปี วงเงินงบประมาณ 11,096 ล้านบาท ทั้งนี้ สำหรับลูกหนี้ที่มีสถานะเป็น NPLs จะสามารถเข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ได้ เมื่อได้มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของ ธ.ก.ส. แล้ว 2. การพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส.ที่ประชุมยังพิจารณาเห็นชอบการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ของ ธ.ก.ส. งบประมาณ 1,000 ล้านบาท กลุ่มเป้าหมายคือเกษตรกรลูกค้าที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ฯ และสมัครใจเข้ารับการพัฒนาศักยภาพ โดยการจัดอบรมเพื่อส่งเสริมฟื้นฟูการประกอบอาชีพแก่ลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการ 1) เพื่อพัฒนาศักยภาพการประกอบอาชีพของเกษตรกร ลดต้นทุนการผลิต ลดความสูญเสีย ลดความเสี่ยง เพิ่มรายได้ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มมาตรฐานผลผลิตและผลิตภัณฑ์ สร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างความสามารถในการชำระหนี้ 2) เพื่อเพิ่มทักษะของเกษตรกรให้สามารถนำเทคโนโลยี นวัตกรรม ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ในการประกอบอาชีพ 3) เพื่อเชื่อมโยงตลาดห่วงโซ่อุปทาน โดยใช้หลักตลาดนำการผลิต4) เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินด้วยทักษะทางการเงินและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ผู้ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าว ภายใต้หลักการ "ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้" เพื่อเป็นการบรรเทาภาระหนี้สินเกษตรกรอย่างบูรณาการ ธ.ก.ส. ร่วมกับส่วนงานราชการ และหน่วยงานภายนอกดำเนินการอบรมเกษตรกรคู่ขนานไปกับมาตรการพักชำระหนี้ที่ได้เพิ่มโอกาสให้เกษตรกรในการนำเงินไปลงทุนปรับเปลี่ยนหรือขยายการประกอบอาชีพ โดยการอบรมอาชีพเกษตรกรจะช่วยฟื้นฟูเกษตรกรให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างมีศักยภาพ มีความสามารถในการแข่งขัน มุ่งสร้างรายได้ให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต พร้อมทั้งเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมวินัยการเงินซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระยะยาว กระทรวงการคลัง คาดว่า มาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรดังกล่าว จะมีส่วนช่วยในการเพิ่มสภาพคล่องให้เกษตรกรรายย่อยให้สามารถมีรายได้เหลือเพียงพอต่อรายจ่ายที่จำเป็นในครัวเรือน รวมถึงมีโอกาสขยายการลงทุนในการประกอบอาชีพและการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน การพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ซึ่ง ธ.ก.ส. ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภายนอกอย่างบูรณาการ จะช่วยยกระดับการดำรงชีพ ของเกษตรกรให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อันจะนำไปสู่การเพิ่มกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจฐานราก เพื่อสร้างความมั่นคงของเกษตรกร และเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืนต่อไป สามารถเช็กคุณสมบัติผ่าน “BAAC Mobile” ธ.ก.ส. ได้จัดวางระบบให้เกษตรกรลูกค้าแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ฯ ผ่านแอปพลิเคชัน “BAAC Mobile” โดยใช้หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนของผู้แสดงความประสงค์ พร้อมหมายเลขโทรศัพท์ ที่สามารถติดต่อได้ จากนั้นระบบจะมีการประมวลข้อมูลตรวจสอบคุณสมบัติ หากเข้าเกณฑ์ผู้มีคุณสมบัติตามมาตรการ ธ.ก.ส. จะนัดหมายลูกค้าและผู้ค้ำประกันไปที่สาขาหรือจุดบริการที่นัดหมาย เพื่อจัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้อง โดยแจ้งความประสงค์ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 จนถึง 31 มกราคม 2567 รวม 4 เดือน
อ่านเพิ่มเติ่ม >