สรุปข่าวประจำสัปดาห์ ( 29 ม.ค.-2 ก.พ. 2561 )
30 ม.ค. 61
มติคณะรัฐมนตรี
ครม. อนุมัติงบกลาง สร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจ 2,105 ล้านบาท
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม. อนุมัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจภายในประเทศ ครั้งที่ 3 วงเงิน 2,105 ล้านบาทเศษ จากที่เสนอขอมาทั้งสิ้น 2,255 ล้านบาทเศษ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 7 โครงการ 7 หน่วยงาน ประกอบด้วย โครงการอนุรักษ์ 24 เมืองเก่าของกระทรวงมหาดไทย วงเงิน 110.4 ล้านบาท โครงการต่อยอดนวัตกรรมของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งดำเนินการโดยมหาวิทยาลัย 3 แห่ง แบ่งเป็นงบประมาณของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วงเงิน 1,106 ล้านบาท โครงการจัดซื้อระบบเอ็กซเรย์ตรวจหาวัตถุระเบิดที่จังหวัดภูเก็ตของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ วงเงิน 183 ล้านบาท โครงการหมู่บ้านโอทอปเพื่อการท่องเที่ยว 8 เส้นทางของกรมการพัฒนาชุมชน วงเงิน 641 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างทางจักรยานรอบบึงสีไฟของจังหวัดพิจิตร วงเงิน 65 ล้านบาท
ครม. อนุมัติงบกลางปี 2560 จำนวน 290 ล้านบาทให้กรมบัญชีกลางใช้ดำเนินโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติม
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม.อนุมัติเงินรายจ่ายงบกลางปี 2560 วงเงิน 290 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการคลังเสนอเพื่อให้กรมบัญชีกลางใช้ในการดำเนินโครงการจัดทำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติม เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการติดตั้งและใช้เครื่องรูดบัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีดีซี จำนวน 288 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการบันทึกข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลเพื่อเติมเงินบัตรแมงมุม จำนวน 2.2 ล้านบาท ส่วนความคืบหน้าโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ปัจจุบันมีร้านธงฟ้าที่เข้าร่วมโครงการติดตั้งเครื่องอีดีซี จำนวน 18,789 แห่ง ร้านก๊าซหุงต้ม 828 แห่ง โดยรัฐบาลได้จ่ายเงินให้กับร้านธงฟ้าประชารัฐแล้ว ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2560 - 28 มกราคม 2561 มีจำนวน 11,871 ล้านบาท
ครม.เห็นชอบการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ แถลงว่า ครม. เห็นชอบการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากไม่ได้มีการปรับค่าจ้างมาระยะหนึ่งแล้ว โดยรัฐบาลได้มีมาตรการคุ้มครองผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 3 มาตรการ ประกอบด้วย มาตรการลดหย่อนภาษี โดยให้ผู้ประกอบการนำรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าแรงให้ลูกจ้างมาลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 1.15 เท่า มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 จนถึงสิ้นปี 2561 โดยผู้ประกอบการที่จะลดหย่อนได้ต้องมีรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาท มีลูกจ้างไม่เกิน 200 คน ทั้งนี้กระทรวงการคลังคาดว่าจะสูญเสียรายได้ 5,400 ล้านบาท
มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ซึ่งจากการประเมินพบว่าการขึ้นค่าแรงจะส่งผลต่อผู้ประกอบการ SME ร้อยละ 0.5-1 แต่จากการอบรมเข้าโครงการจะช่วยลดต้นทุน SME ร้อยละ 10 คาดว่าจะมี SME เข้าร่วม 50,000 แห่ง มีผู้ประกอบการประมาณ 250,000 คน ทั้งนี้ไม่จำกัดว่าต้องเป็น SME ที่อยู่ในระบบเท่านั้น
มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 สำหรับผู้ประกอบการที่นำเครื่องจักรมาปรับปรุงและนำระบบดิจิทัล/อินเทอร์เน็ตมาช่วยในการจัดการด้านธุรกิจ โดยให้ยกเว้นเป็นเวลา 3 ปี และให้มีการขยายขอบเขตการอบรมบุคลากรของผู้ประกอบการให้มากขึ้น
ครม. อนุมัติมาตรการยกเว้นภาษี สำหรับการบริจาคให้แก่กองทุนวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมของรัฐ
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. อนุมัติมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับการบริจาคให้แก่กองทุนวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม ของรัฐ 4 กองทุน คือ กองทุนเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กองทุนสนับสนุนการวิจัย กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบมาตรวิทยา และกองทุนเพื่อการพัฒนาระบบสาธารณสุข เพื่อเป็นช่องทางในการระดมทุนสนับสนุนจากภาคเอกชนเพื่อใช้ในการทำวิจัยพัฒนาและ นวัตกรรม รวมถึงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศมีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น โดยผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสามารถหักลดหย่อนได้ 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาคจริง แต่เมื่อรวมกับการบริจาคเพื่อการศึกษาต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ ขณะที่นิติบุคคลสามารถหักลดหย่อยได้ 2 เท่าของจำนวนที่บริจาคจริง แต่เมื่อรวมก