
การดำเนินชีวิต 4 ภาค (การดำรงชีวิต , ที่อยู่อาศัย)
การดำเนินชีวิตของคนไทยในภูมิภาคต่างๆ
วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในแต่ละภูมิภาคขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ได้แก่ สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ รากฐานทางวัฒนธรรมดั้งเดิมของกลุ่มคนในภูมิภาค การรับวัฒนธรรมจากภายนอกและลักษณะการผสมผสานทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นผลทำให้ลักษณะการดำเนินชีวิตหรือวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของคนไทยในภูมิภาคต่างๆ มีเอกลักษณ์เฉพาะตน
ภาคเหนือ
ภาคเหนือเป็นดินแดนที่มีอาณาเขตกว้างขวาง มีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ ผู้คนอาศัยในดินแดนแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ คนเมืองกับชาวเขา
คนเมือง ใช้เรียกคนที่อาศัยในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำในเขตจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน แพร่ น่าน พะเยา และแม่ฮ่องสอน จากสภาพภูมิศาสตร์อันอุดมสมบูรณ์ คนเมืองในภาคเหนือมีอาชีพทางการเกษตรเป็นหลัก มีวัฒนธรรมประเพณีหลายอย่างเกี่ยวข้องกับการเกษตรและขนบธรรมเนียมเก่าแก่ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่ครั้งปู่ย่าตายาย เช่น การนับถือผี เมื่อพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองขึ้น ทำให้เกิดประเพณีต่าง ๆ ตามความเชื่อทางศาสนา เช่น ประเพณีสงกรานต์ งานปอย ทานขันข้าว ตักบาตรเทโว
ชาวเขา เป็นชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆ ที่เคลื่อนย้ายเข้ามาและกระจายตัวอยู่ทั่วไปตามพื้นที่สูงของภาคเหนือ ชนกลุ่มน้อยมีอยู่หลายเผ่า เช่น ม้ง ลาหู่ อาข่า ลีซูหรือลีซอ เป็นต้น ชนเผ่าต่าง ๆ มีความผูกพันกับป่าเขา ดำรงชีวิตด้วยการเพาะปลูกบนที่สูงและการเลี้ยงสัตว์มีวัฒนธรรมประเพณีเป็นของตนเอง ทั้งภาษา เครื่องแต่งกาย ศาสนา พิธีกรรมและความเป็นอยู่ ที่อยู่อาศัย วัฒนธรรมประเพณี สภาพดินฟ้าอากาศ มีส่วนกำหนดลักษณะที่อยู่อาศัยของผู้คน บ้านเรือนในภาคเหนือนิยมสร้างด้วยวัสดุธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่นสอดคล้องกับวิถีชีวิต ตัวเรือนมีขนาดเล็กใต้ถุนสูง หลังคาทรงจั่ว ประดับยอดหลังคาด้วยไม้แกะสลักไขว้กัน เรียกว่า "กาแล" ชาวเหนือที่มีฐานะดีจะอยู่เรือนที่ค่อนข้างมีขนาด ใหญ่และประณีตมากขึ้น

ภาคกลาง
ภาคกลางมีสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่อุดมสมบูรณ์ เอื้ออำนวยต่อการทำการเกษตรกรรม ภาคกลางเป็นที่ตั้งเมืองหลวงของประเทศ เป็นศูนย์กลางของการบริหารราชการ การศึกษา กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการคมนาคม จึงเป็นชุมชนที่มีประชากรหนาแน่น มีหลายเชื้อชาติ เช่น คนไทยเชื้อสายมอญ คนไทยเชื้อสายจีน คนไทยเชื้อสายญวน คนไทยเชื้อสายลาว
การทำมาหากิน ผู้คนในภาคกลางประกอบอาชีพทางการเกษตรเป็นหลัก โดยเฉพาะการปลูกข้าว บริเวณภาคกลางมีแม่น้ำลำคลองหนองบึงอยู่ทั่วไปและอยู่ใกล้อ่าวไทย จึงมีการทำการประมง ทั้งประมงน้ำจืด ประมงน้ำกร่อยและประมงน้ำเค็ม นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาการเติบโตเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่โดยทั่วไป เช่น โรงสีข้าว โรงงานผลิตน้ำตาล โรงงานปูนซีเมนต์ โรงงานประกอบรถยนต์ โรงงานประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ภาคกลางจึงเป็นภูมิภาคที่มีผู้คนตั้งถิ่นฐานและเป็นแหล่งงานของผู้คนที่อยู่อาศัยกันอย่างหนาแน่น
ที่อยู่อาศัย บ้านเรือนในภาคกลางแต่เดิมมีลักษณะที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมอย่างชัดเจน ภาคกลางอยู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำ ฝนตกชุกและอากาศร้อน จึงปลูกสร้างบ้านเรือนเพื่อให้อยู่อาศัยอย่างสบายในภูมิประเทศมีแม่น้ำลำคลองมากก็ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำ หรือปลูกเรือนลอยอยู่ในน้ำเรียกว่า เรือนแพ สำหรับที่อยู่อาศัยปลูกสร้างอย่างเรียบง่าย มีลักษณะหลังคาทรงจั่วเพื่อให้อากาศถ่ายเทสะดวกและทำให้ฝนที่ตกลงมาไหลลงได้รวดเร็วไม่ค้างอยู่บนหลังคา มีใต้ถุนสูงเพื่อให้พ้นน้ำท่วมและใช้เก็บเครื่องมือเครื่องใช้และผลิตผลทางการเกษตร สำหรับผู้ที่มีฐานะดก็จะปลูกในลักษณะที่คงทนถาวรมากกว่า

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ประชากรภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือชาวอีสาน ประกอบด้วยชนเผ่าที่มาจากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ รวมตัวกันตั้งถิ่นฐานอยู่ร่วมกันอย่างมากมาย ชาวไทยอีสานกระจายอยู่ทุกจังหวัดทั่วภูมิภาค
ที่อยู่อาศัย แต่เดิมหมู่บ้านในชนบทภาคอีสานยังคงยึดถือรูปแบบของการเป็นอยู่ที่เรียบง่าย บ้านเรือนที่ปลูกสร้างใช้วัสดุในท้องถิ่น เป็นเรือนใต้ถุนสูง ตีฝาสายบัว หลังคาทรงจั่วต่ำ ปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้หรือก่ออิฐฉาบปูน มุงหลังคาสังกะสีและกระเบื้อง ผู้มีฐานะดีมักสร้างบ้านโดยใช้วัสดุราคาแพงรูปทรงตะวันตก
ภาคใต้
กลุ่มชนโบราณที่เคยอาศัยและตั้งถิ่นฐานในภาคใต้ คือ "ชนชาวถ้ำ" และ "ชนชาวน้ำ"
ชนชาวถ้ำ ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ป่าเขา โดยเข้าป่าล่าสัตว์ตามแบบดั้งเดิม ชนกลุ่มนี้คือบรรพบุรุษของพวกเซมัง หรือ ซาไก หรือเงาะป่า
ชนชาวน้ำ อาศัยอยู่ในแนวชายฝั่งทะเลตามอ่าวหรือถ้ำบนเกาะ คือ พวกโอรังลาโอด หรือโปรโต-มาเลย์ หรือชาวเลที่ยังมีอยู่ในปัจจุบัน
เนื่องจากทำเลที่ตั้งของภาคใต้เป็นคาบสมุทร ซึ่งเป็นเส้นทางการเดินทางระหว่างมหาสมุทรอินเดียและทะเลจีนใต้ จึงมีชนต่างชาติเข้ามาพำนักอาศัยและเกิดการผสมผสานทางเชื้อชาติ ได้แก่ ชาวอินเดีย ชาวจีน และชาวตะวันออกกลาง
ที่อยู่อาศัย จะตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้แหล่งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค ใกล้ท่าน้ำ ลำคลอง อ่าวและทะเล เพื่อสะดวกในการสัญจรและการทำมาหากิน คนไทยภาคใต้จะมีคติในการตั้งบ้านเรือน เช่น ปลูกบ้านโดยมีตีนเสารองรับเสาเรือนแทนการขุดหลุมฝังเสา เพื่อสะดวกในการโยกย้ายและเป็นการป้องกันมด ปลวก มีคติห้ามปลูกเรือนขวางตะวัน เพราะจะขวางเส้นทางลมมรสุมซึ่งอาจทำให้หลังคา
ปลิวและถูกพายุพัดพังได้ง่าย วัสดุที่นำมาสร้างคือสิ่งที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น บ้านเรือนมีหลายลักษณะ มีทั้งบ้านเรือนเครื่องผูก หลังคาทรงจั่วและทรงปั้นหยา มีใต้ถุนเตี้ยเพราะมีลมพายุเกือบทั้งปี หากปลูกเรือนสูงอาจต้านทานแรงลม ทำให้เรือนเสียหายได้

|